หนี้สินไม่หมุนเวียน คือ หนี้สินระยะยาว ที่กำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้นานเกินกว่า 1 รอบระยะเวลาบัญชี หรือมากกว่า 1 ปี โดยหนี้สินไม่หมุนเวียน (Non-Current Liabilities) คือ 1 ใน 2 ประเภทของหนี้สินในทางบัญชีที่จะปรากฏอยู่ในงบแสดงฐานะการเงิน
พื้นฐานของหนี้สินคือหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืม เช่น จากสถาบันการเงิน หรือเจ้าหนี้การค้า โดยหนี้เป็นสิ่งที่กิจการต้องจ่ายคืนในอนาคต โดยในทางบัญชีจะแบ่งหนี้สินเป็น 2 ประเภท คือ หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) และ หนี้สินไม่หมุนเวียน (Non-Current Liabilities) ที่กำลังอธิบายในบทความนี้
โดยหนี้สินไม่หมุนเวียน (Non-Current Liabilities) ถือเป็นแหล่งเงินทุนอีกหนึ่งแหล่งเงินทุนของกิจการที่ใช้เป็นเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ นอกเหนือจากส่วนของผู้ถือหุ้น กำไรของธุรกิจ และจากการเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้น
ข้อดีสำคัญของ หนี้สินไม่หมุนเวียน (Non-Current Liabilities) คือ การกู้เงินไม่ทำให้สัดส่วนของผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลง เพราะการกู้เงินก็คือการกู้เงินอย่างที่ทุกคนเข้าใจไม่ได้มีผลกับหุ้น และอีกข้อดีคือการที่ดอกเบี้ยที่กิจการได้จ่ายให้กับเจ้าหนี้สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้อีกด้วย
ในขณะที่การหาเงินทุนด้วยการเพิ่มทุน (การออกหุ้นเพิ่ม) จะทำให้จำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้จำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นที่มีหุ้นอยู่แล้วเปลี่ยนแปลงไป เช่น คุณมี 50 หุ้นจากทั้งหมด 100 หุ้น หมายความว่าคุณถือหุ้น 50% แต่เมื่อคุณออกหุ้นเพิ่ม 100 หุ้น โดยที่คุณไม่ซื้อเองซักหุ้นสัดส่วนหุ้นของคุณจะลดลงเหลือ 25% เท่านั้น ซึ่งจะทำให้อำนาจในการบริหารของคุณลดลง
ประเภทของหนี้สินไม่หมุนเวียน
ประเภทของหนี้สินไม่หมุนเวียน สามารถแบ่งได้ตามลักษณะของ หนี้สินไม่หมุนเวียน (Non-Current Liabilities) โดยแบ่งได้เป็น 3 ประเภทตามที่มาของหนี้สินไม่หมุนเวียนแต่ละประเภท คือ
- หนี้สินไม่หมุนเวียนเกิดจากการดำเนินงานของกิจการ
- หนี้สินไม่หมุนเวียนจากกิจกรรมจัดหาทุนของกิจการ
- หนี้สินไม่หมุนเวียนจากการประมาณ หรือ ประมาณการหนี้สิน
หนี้สินไม่หมุนเวียนเกิดจากการดำเนินงานของกิจการ คือ หนี้สินระยะยาวที่มาจากการดำเนินธุรกิจตามปกติ เช่น รายได้รอการตัดบัญชี ที่เกิดจากการที่กิจการได้รับเงินล่วงหน้าจากรายได้ที่ยังไม่เกิดขึ้น จึงถูกบันทึกเอาไว้ในหมวดหนี้สินในงบแสดงฐานะการเงินแทนที่จะบันทึกเอาไว้ในรายได้ในงบกำไรขาดทุน
หนี้สินไม่หมุนเวียนจากกิจกรรมจัดหาทุนของกิจการ คือ หนี้สินไม่หมุนเวียนที่เกิดจากกิจกรรมจัดหาทุนของกิจการเพื่อนำเงินทุนดังกล่าวมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ หุ้นกู้แปลงสภาพ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ หุ้นกู้ไถ่ถอนได้ หนี้สินสัญญาเช่าระยะยาว และเจ้าหนี้จำนอง
หนี้สินไม่หมุนเวียนจากการประมาณ หรือ ประมาณการหนี้สิน คือ หนี้สินที่เกิดจากการประมาณการ เพราะเป็นจำนวนเงินที่กิจการไม่รู้จำนวนเงินที่แน่นอนที่จะต้องใช้ในการจ่ายหนี้ของกิจการ ได้แก่
- หนี้สินจากโครงการผลประโยชน์พนักงาน เป็นหนี้สินที่เกิดจากบำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล และผลประโยชน์อื่นๆ ของพนักงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน
- ประมาณการหนี้สินจากการรับประกันสินค้า เป็นหนี้สินที่บันทึกไว้เพราะบริษัทได้รับประกันคุณภาพสินค้าที่ขาย เช่น การซ่อมฟรีของมือถือในปัจจุบัน ซึ่งในกรณีนี้คือเงินที่กิจการได้ประมาณเอาไว้ว่าจะต้องจ่ายซ่อมเพราะการรับประกันสินค้าเท่าไหร่
เมื่อรู้แล้วว่า หนี้สินไม่หมุนเวียน คืออะไร มาดูกันว่ามีหนี้สินรายการใดบ้างที่จัดเป็น หนี้สินไม่หมุนเวียน หรือ Non-Current Liabilities
หนี้สินไม่หมุนเวียน มีอะไรบ้าง
หนี้สินไม่หมุนเวียน (Non-Current Liabilities) คือ หนี้สินระยะยาวที่ต้องใช้คืนภายใน 1 ปี โดยทั่วไปที่สามารถพบได้บ่อยจะมีอยู่หลักๆ 2 รายการคือ เงินกู้ระยะยาว และ หุ้นกู้ระยะยาว แต่หนี้สินไม่หมุนเวียนทั้งหมดที่สามารถพบได้ มีดังนี้
- เงินกู้ยืมระยะยาว (Long-term Loans)
- หุ้นกู้ระยะยาว (Corporate Bond)
- ตั๋วเงินจ่ายระยะยาว
- หนี้จำนอง
- หนี้สินอื่นๆ ที่มีกำหนดระยะเวลาใช้คืนมากกว่า 1 ปี
เงินกู้ยืมระยะยาว (Long-term Loans) เป็นเงินกู้ที่กำหนดใช้คืนมากกว่า 1 ปี ที่กิจการได้กู้ยืมเงินกู้ระยะยาวมาจากบุคค สถาบันการเงิน หรือกิจการด้วยกันเอง
หุ้นกู้ระยะยาว (Corporate Bond) คือ ตราสารหนี้ระยะยาวที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียน เป็นตราสารที่ให้แสดงการกู้ยืมเงินของบริษัทจดทะเบียน เหมือนสัญญากู้เงินที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนและขายให้นักลงทุน (กู้เงินนักลงทุน) สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับหุ้นกู้แบบละเอียดได้ที่บทความ หุ้นกู้ คืออะไร
ตั๋วเงินจ่ายระยะยาว คือ ตั๋วที่เป็นสัญญาว่าจะจ่ายเงินในอนาคตพร้อมดอกเบี้ย ตั๋วเงินจ่ายระยะยาวจะทำงานคล้ายกับหุ้นกู้ที่ไม่ต้องนำไปขายให้กับนักลงทุนผ่านตลาดตราสารหนี้
หนี้จำนอง คือ การกู้เงินของกิจการโดยใช้สินทรัพย์ของกิจการ เช่น ที่ดิน อาคาร โรงงาน ใช้เป็นหลักประกันเข้าในการจำนองกับสถาบันการเงินที่ให้กิจการกู้เงิน (เจ้าหนี้สามารถควบคุมทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันได้) เพื่อนำเงินทุนมาหมุนเวียนในกิจการ
หนี้สินอื่นๆ ที่มีกำหนดระยะเวลาใช้คืนมากกว่า 1 ปี
จะเห็นว่าโดยทั่วไปแล้ว หนี้สินไม่หมุนเวียน คือ หนี้สินอะไรก็ตามที่กำหนดระยะเวลาในการใช้คืนเกินกว่า 1 ปี ตามลักษณะของคำว่า “ระยะยาว” ในทางบัญชีที่คำว่า ระยะยาว (Long-term) คือ ระยะเวลาที่มากกว่า 1 รอบระยะเวลาบัญชี หรือก็คือ 1 ปี นั่นเอง
หรือถ้าหากอธิบายให้ง่ายกว่านั้นก็สามารถพูดได้ว่า หนี้สินหมุนเวียน (Non-Current Liabilities) คือ หนี้สินที่ไม่ได้จัดอยู่ในหนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) ที่เป็นด้านตรงข้ามนั่นเอง