ธนาคารกลาง คืออะไร?
ธนาคารกลาง คือ หน่วยงานกลางที่ดูแลในเรื่องเกี่ยวนโยบายการเงินของประเทศแต่ละประเทศ หน้าที่ของธนาคารกลางจะเป็นเหมือนธนาคารของธนาคาร ที่คอยควบคุมธนาคารและสถาบันการเงินที่อยู่ในอำนาจการควบคุมของธนาคารกลางของประเทศนั้น
ดังนั้น ธนาคารกลาง (Central Bank) จะไม่ทำธุรกรรมกับประชาชนโดยตรง แต่จะทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การควบคุมเท่านั้น ซึ่งหน้าที่ของธนาคารกลางของธนาคารกลางทุกประเทศจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ
- กำหนดนโยบายการเงินของประเทศ (Monetary Policy) เพื่อดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศ
- กำกับดูแลสถาบันการเงินที่อยู่ในประเทศ เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน
สำหรับประเทศไทยมี ธนาคารกลางของประเทศไทย คือ ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ Bank of Thailand (BoT) หรือ บางคนอาจจะเรียกว่า “แบงค์ชาติ”
นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลาง (Central Bank) ยังเป็นหน่วยงานที่คอยควบคุมเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Monetary Policy) ในแต่ละประเทศ นั่นหมายความว่าทุกประเทศมีธนาคารกลาง โดยธนาคารกลาง (Central Bank) ของประเทศที่สำคัญในเศรษฐกิจโลกมีดังนี้
- Bank of Japan (BoJ) – ญี่ปุ่น
- Federal Reserve System (Fed) – สหรัฐอเมริกา
- European Central Bank (ECB) – ประเทศกลุ่มยูโรโซน
- Bank of England (BoE) – อังกฤษ
- Deutsche Bundesbank – เยอรมัน
- People’s Bank of China (PBoC) – จีน
- Reserve Bank of Australia (RBA) – ออสเตรเลีย
หน้าที่ของธนาคารกลาง
หน้าที่ของธนาคารกลางของธนาคารกลาง (Central Bank) ทุกประเทศจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ การกำหนดนโยบายการเงินของประเทศ (Monetary Policy) และกำกับดูแลสถาบันการเงินภายในประเทศ
กำหนดนโยบายการเงินของประเทศ (Monetary Policy) มีเป้าหมายเพื่อดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศ ด้วยมาตรการต่าง ๆ อย่างเช่น การแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน และการออกนโยบายทางการเงินอื่น ๆ
โดยหน้าที่ที่คุ้นเคยกันดีในส่วนนี้ของธนาคารกลาง คือการควบคุมเพิ่ม/ลด/คงที่ดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ที่เป็นดอกเบี้ยอ้างอิงพื้นฐานของประเทศ
กำกับดูแลสถาบันการเงินที่อยู่ในประเทศ มีเป้าหมายในการคุ้มครองประชาชนจากสถาบันการเงิน (เป็นเหมือนตำรวจที่คอยคุมธนาคารกับสถาบันการเงิน) เช่น การออกกฎต่างๆ เกี่ยวกับธนาคารในประเทศ การควบคุมการให้กู้ หรือแม้กระทั่งจะสั่งปิดสถาบันการเงินหรือธนาคารที่มีความผิด
การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่พบได้บ่อยของ ธนาคารกลาง คือ การควบคุมเงื่อนไขเกี่ยวกับสินเชื่อต่างๆ เพื่อทำให้ธนาคารพานิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อมากเกินไป และประชาชนไม่ก่อหนี้มากเกินไป
หน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ในส่วนของธนาคารกลางของไทย หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) มีหน้าที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจน ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551) ดังนี้
กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน ได้แก่ รับฝาก ควบคุมอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเงินสำหรับสถาบันการเงิน ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ กู้ยืมเงินตราต่างประเทศ กู้ยืมเงินเพื่อการดำเนินนโยบายการเงิน ซื้อขายหลักทรัพย์เท่าที่จำเป็นและแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดในอนาคตเพื่อควบคุมปริมาณเงินของประเทศ รวมถึงยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ตามที่กำหนดโดยมีหรือไม่มีค่าตอบแทน
ออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร โดยมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะออกบัตรธนาคารในราชอาณาจักร
บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยการนำสินทรัพย์ไปลงทุนหาประโยชน์
กำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน ด้วยการวิเคราะห์และตรวจสอบการดำเนินงาน ไปจนถึงการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน
บริหารอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมถึงการบริหารสินทรัพย์ในทุนสำรอง
ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
จัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน ระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน รวมถึงทำให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
เป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล มีอำนาจรับจ่ายเงินเพื่อบัญชีฝากของกระทรวงการคลัง เป็นตัวแทนรัฐบาลในการซื้อขายหลักทรัพย์และสินทรัพย์ต่างๆ หรืออาจเป็นนายธนาคารของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล มีอำนาจกระทำการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐบาล จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย หรืออาจเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน ทำหน้าที่เหมือนธนาคารของธนาคาร เช่น ให้กู้ยืมเงิน ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การรับเก็บรักษาเงิน หลักทรัพย์ ของมีค่าอย่างอื่นของสถาบันการเงิน รวมถึงสามารถสั่งให้ส่งรายงานหรือชี้แจงเกี่ยวกับทรัพย์สิน หนี้สิน หรือภาระผูกพัน
หน้าที่ของธนาคารกลางแห่งประเทศไทยแบบสรุปได้ที่เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทยอ้างอิงจาก บทบาทหน้าที่ ธปท.
ทั้งนี้ หน้าที่ของธนาคารกลาง (Central Bank) ของประเทศอื่น ๆ ก็จะมีหน้าที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งมักจะระบุอยู่ในเว็บไซต์ (และกฎหมาย) ของธนาคารกลางในแต่ละประเทศ อย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็จะระบุหน้าที่ของธนาคารกลางเอาไว้ว่ามีกรอบหน้าที่ในการสร้างการจ้างงานสูงสุด ดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ควบคุมและดูแลความมั่นคงของสถาบันการเงิน และดูแลประสิทธิภาพระบบการชำระเงินของสหรัฐอเมริกา