3 Mu คืออะไร?
3 Mu คือ แนวคิดเกี่ยวกับสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าหรือบริการลดลง โดยที่มาของชื่อ 3 Mu ย่อมาจากภาษาญี่ปุ่น 3 คำ ได้แก่ Muda Mura และ Muri ซึ่งถ้าหากว่ากระบวนการผลิตสามารถกำจัดทั้ง 3 Mu ออกไปได้ก็จะช่วยให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับหลัก 3 Mu ในแต่ละส่วนจะมีความหมายคร่าว ๆ ดังนี้ Muda คือ ความสูญเปล่า (Waste), Mura คือ ความไม่สม่ำเสมอ (Unevenness), และ Muri คือ การทำสิ่งที่เกินกำลังของตัวเอง (Overburden)
3 Mu คือ แนวคิดที่เรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานของ Toyota Production System หรือที่รู้จักกันภายหลังในชื่อ Lean (ลีน) ซึ่งถ้าหากใครเคยศึกษาจะเห็นว่าทั้ง Toyota Production System และ Lean จะมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพโดยพยายามจัดการกับความสูญเปล่าและการดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ

Muda
Muda คือ ความสูญเปล่า (Waste) ที่เกิดขึ้นในประบวนการผลิต อธิบายให้ง่ายกว่านั้น Muda คือสิ่งที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นในขณะที่ไม่ได้ทำให้ผลผลิตมากขึ้นหรือประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับสินค้าอีกด้วย
ดังนั้น ในทางกลับกันการกำจัดความสูญเปล่าหรือ Muda ออกไปจากกระบวนการผลิตจะทำให้กระบวนการผลิตมีต้นทุนที่ต่ำลง โดยที่ไม่ทำให้ประสิทธิภาพลดลง และต้นทุนที่ลดต่ำลงก็จะส่งผลให้กำไรสูงขึ้น
Muda คือ แนวคิดที่หลายคนอาจคุ้นเคยดีในชื่อแนวคิด 7 Waste หรือ ความสูญเสีย 7 ประการ ที่ประกอบด้วย:
- ความสูญเสียจากการเก็บวัสดุคงคลัง (Inventory)
- ความสูญเสียจากการผลิตมากเกินไป (Overproduction)
- ความสูญเสียจากการเคลื่อนไหว (Motion)
- ความสูญเสียจากการรอคอย (Delay)
- ความสูญเสียจากการผลิตของเสีย (Defect)
- ความสูญเสียจากการขนส่ง (Transportation)
- ความสูญเสียจากกระบวนการผลิต (Processing)
Mura
Mura คือ ความไม่สม่ำเสมอของการดำเนินงาน (Unevenness) เป็นสิ่งที่จะส่งผลต่อคุณภาพของงานทำให้งานออกมามีประสิทธิภาพที่ไม่สม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่จะทำให้สินค้าหรือบริการออกมาไม่ได้มาตรฐานปัญหาที่เกิดจาก Mura เปรียบเทียบได้กับร้านอาหารที่มีรสชาติไม่สม่ำเสมอเพราะร้านไม่มีสูตรหรือการตวงที่ชัดเจน
สำหรับ Mura หรือความไม่สม่ำเสมอในการดำเนินงาน (Unevenness) ที่พบได้บ่อย ได้แก่
การเลือกใช้คนเพื่อทำงานแต่ละงานที่ไม่สม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น วันนี้พนักงาน A ทำงานเอกสารอย่างหนึ่ง อีกวันสลับไปทำงานเอกสารอีกอย่างหนึ่ง ทำให้แทนที่ A จะได้ทำงานที่ถนัดเสร็จอย่างรวดเร็ว กลับต้องไปทำงานที่ไม่ถนัดและทำได้ช้า
แนวทางหรือขั้นตอนในการดำเนินงานที่ไม่สม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น เมื่อวานในการผลิตสินค้า A ใช้วิธีหนึ่ง แต่วันนี้ใช้อีกวิธีหนึ่งในการผลิตและวันถัดมาก็ใช้วิธีใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าหรือบริการออกไม่มีมาตรฐาน และเกิดความสับสนในการดำเนินงานจนนำไปสู่ความผิดพลาด
ปริมาณงานที่ไม่สม่ำเสมอ ปริมาณงานที่ไม่สม่ำเสมอที่ต้องทำในแต่ละวันไม่ว่ามากหรือน้อยเกินไปจะส่งผลต่อต้นทุน อย่างการใช้งานเครื่องจักรที่อาจจะผลิตได้น้อยไม่คุ้มกับการเดินสายการผลิตแต่ละครั้งจะทำให้เกิดการผลิตที่ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่เกิดขึ้น ส่วนการผลิตที่มากเกินไปในเวลาเท่าเดิมก็จะนำไปสู่ความผิดพลาด
Muri
Muri คือ การทำสิ่งที่เกินกำลัง (Overburden) ซึ่งการทำงานที่เกินกำลังจะส่งผลให้เกิดความผิดพลาดซึ่งนำไปสู่การดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือเกิดการบาดเจ็บจนทำให้การผลิตต้องหยุดชะงัก เหมือนกับการคนที่ฝืนทำอะไรที่เกินความสามารถของตนเอง
นอกจากนี้ การทำงานที่เกินกำลัง (Muri) ยังส่งผลให้เกิดความตึงเครียด และส่งผลถึงขวัญกำลังใจในการทำงานจากความเหนื่อยที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่เกินกำลังตัวเอง เพราะพนักงานที่รับผิดชอบจะรู้สึกเองว่าเป็นงานที่มีโอกาสสำเร็จต่ำ ในขณะที่พวกเขาจะปฏิเสธก็ไม่ได้