การหักค่าใช้จ่ายตามจริง และ การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา คือ วิธีการหักค่าใช้จ่าย 2 รูปแบบของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้แต่ละประเภทสามารถหักค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นต้นทุนของการประกอบอาชีพได้ โดยการหักจะถูกกำหนดไว้แตกต่างกันตามประเภทของเงินได้ ซึ่งสามารถอธิบายแบบคร่าวๆ ได้ดังนี้
การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา คือ การหักค่าใช้จ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยไม่สนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง (ทำให้ไม่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย)
การหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริง คือ การหักค่าใช้จ่ายตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ตามที่ผู้เสียภาษีมีหลักฐานค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
โดยการหักค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะ หักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือ การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา คือสิทธิประโยชน์ที่จะช่วยทำให้ตัวเลขฐานภาษีของผู้เสียภาษีสมเหตุสมผลขึ้นในการ คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากทุกอาชีพที่ทำให้ได้มาซึ่งรายได้ย่อมมีต้นทุนเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย
การหักค่าใช้จ่ายตามจริง
การหักค่าใช้จ่ายตามจริง คือ การหักค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริงและต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผลกับเงินได้พึงประเมิน โดยที่ผู้เสียภาษีจะต้องมีหลักฐานยืนยันค่าใช้จ่ายที่ต้องการหักค่าใช้จ่าย (และต้องเก็บหลักฐานไว้อย่างน้อย 5 ปี) พร้อมกับต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
โดยหลักฐานสำหรับการหักค่าใช้จ่ายของบุคคลธรรมดาเพื่อแสดงว่าคุณเป็นผู้ที่จ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านั้นจริง ได้แก่
- ใบเสร็จรับเงิน
- ใบกำกับภาษี
- บิลเงินสด
- ใบสำคัญรับเงิน
สำหรับเงินได้พึงประเมินที่สามารถ หักค่าใช้จ่ายตามจริง คือ เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 6 7 และ 8
การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา
การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา คือ การหักค่าใช้จ่ายด้วยอัตราร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์ตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ให้ในแต่ละประเภทเงินได้ โดยไม่สนใจว่าค่าใช้จ่ายนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยในส่วนของเงินได้ที่สามารถใช้ การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา คือ เงินได้ทุกประเภท ยกเว้น เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 และประเภทที่ 8 เฉพาะในส่วนของเงินได้อื่นๆ
อัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาของ เงินได้บุคคลธรรมดา แต่ละประเภทสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ในอัตราดังต่อไปนี้:
เงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้เท่านั้น ในอัตรา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และถ้าหากคุณมีเงินได้ทั้งประเภทที่ 1 และ 2 จะต้องนำมารวมกัน ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะหักค่าใช้จ่ายแแบบเหมาได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
เงินได้ประเภทที่ 3 หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% ของรายได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
เงินได้ประเภทที่ 5 สามารถเลือกได้ว่า หักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา โดยมีอัตราดังนี้
บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ ยานพาหนะ หักค่าใช้จ่ายได้ 30%
ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร หักค่าใช้จ่ายได้ 20%
ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการเกษตร หักค่าใช้จ่ายได้ 15%
ทรัพย์สินอื่น หักค่าใช้จ่ายได้ 10%
เงินได้ประเภทที่ 6 สามารถเลือกได้ว่า หักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ด้วยอัตราดังนี้
- ประกอบโรคศิลปะ หักค่าใช้จ่ายได้ 60%
- กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม หักค่าใช้จ่ายได้ 30%
เงินได้ประเภทที่ 7 สามารถเลือกได้ว่าจะ หักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ในอัตรา 60%
เงินได้ประเภทที่ 8 สามารถเลือกได้ว่าจะ หักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาในอัตรา อัตราเหมา 40% และ 60% (ขึ้นอยู่กับว่ามีเงินได้จากอะไร)
สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินทั้ง 8 ประเภทแบบละเอียดได้ที่บทความ – เงินได้พึงประเมิน คืออะไร? หักค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่บ้าง