หุ้น IPO คืออะไร?
หุ้น IPO คือ Initial Public Offering หมายถึงการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรกผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือตลาดหุ้น เพื่อนำเงินทุนที่ได้ไปใช้เป็นเงินทุนของบริษัท (นอกเหนือจากการกู้เงิน) การเสนอขายหุ้น IPO จึงทำให้ธุรกิจที่เคยอยู่นอกตลาดหลักทรัพย์แปลงสภาพเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Company)
แม้ว่าหุ้น IPO จะเป็นหุ้นน้องใหม่ในตลาดหุ้น แต่อย่างไรก็ตามหุ้น IPO ไม่ใช่หุ้นของบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมา แต่เป็นหุ้นของบริษัทจำกัดที่ดำเนินธุรกิจมาจนถึงจุดที่ต้องการจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ (เป็นบริษัทจำกัดมหาชน) เพื่อหาเงินทุนที่มากขึ้นจากประชาน
ก่อนที่บริษัทจะกลายมาเป็นหุ้น IPO ที่นำมาเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก บริษัทที่ต้องการเสนอขายหลักทรัพย์ (บริษัทที่จะออก IPO) จะปรึกษากับ “ที่ปรึกษาทางการเงิน” เพื่อทำหนังสือชี้ชวนตามเงื่อนไขของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
เมื่อ ก.ล.ต. พิจารณาแล้วให้ผ่าน บริษัทจะแต่งตั้ง Underwriter ทำหน้าที่เสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนทั่วไปแทนบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ + ระบุราคาขายและวันเปิดจองซื้อ แล้วจึงเสนอขายหุ้น (ภายใน 6 เดือนหลัง ก.ล.ต. อนุญาติ) และยื่นคำขอจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์
โดยการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทแต่ละครั้งจะไม่ตายตัวว่าจะต้องจองด้วยวิธีใด ช่องทางไหน หรือจ่ายเงินอย่างไร ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่จะต้องศึกษารายละเอียดต่าง ๆ จากหนังสือชี้ชวนของบริษัทเอง
ใครจองหุ้น IPO ได้บ้าง
ประชาชนทั่วไปใครก็ตามสามารถจองหุ้น IPO ได้ แต่ในความเป็นจริงส่วนใหญ่หุ้น IPO ของบริษัทออนาคตดีถึงดีมากมักจะไม่ค่อยถึงมือนักลงทุนรายย่อย แต่นักลงทุนที่มีโอกาสจองหุ้น IPO มักจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่พอร์ตหุ้นหลักสิบล้านร้อยล้าน และมี Volume ของการเทรดในแต่ละเดือนที่สูงมาก ๆ
นอกจากนี้ ด้วยการที่หุ้น IPO เป็นที่ต้องการของนักลงทุนยังทำให้หุ้น IPO ที่เปิดให้จองมักจะหมดลงอย่างรวดเร็วจึงเป็นอีกเหตุผลที่หุ้น IPO มักจะไม่ถึงมือนักลงทุนรายย่อย
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่านักลงทุนสามารถจองหุ้น IPO ได้ และได้การจัดสรร นักลงทุนจะสามารถเลือกรับหุ้นสามัญได้ 3 วิธีคือ
- รับเป็นใบหุ้นสามัญ (จัดส่งทางไปรษณีย์)
- ฝากหุ้นสามัญไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (หรือ TSD)
- นำหุ้นเข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของคุณ
หุ้น IPO มีอะไรน่าสนใจ
การได้ซื้อหุ้นของบริษัทที่ดีในราคาที่หุ้น IPO ถูกเสนอขายครั้งแรก หมายความว่านักลงทุนจะได้เป็นเจ้าของหุ้นดังกล่าวในราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (เว้นแต่คุณจะเป็นผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าวที่ได้หุ้นมาตั้งแต่ก่อนที่จะ IPO)
นอกจากนี้ หุ้น IPO ที่เปิดให้ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นวันแรกจะไม่มี Ceiling กับ Floor ที่จำกัดให้หุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้สูงสุดแค่ 30% ในหนึ่งวัน หมายความว่าในวันแรกที่เริ่มทำการซื้อขายในตลาดหุ้น ราคาของหุ้น IPO นั้นอาจจะพุ่งขึ้นหรือดิ่งลงได้อย่างไม่จำกัด
รวมกับการที่หุ้น IPO เปิดขายวันแรกในตลาดมักจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน + กระแสข่าว ทำให้หลายครั้งราคาหุ้น IPO ในวันแรกมักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งหมดทำให้ทั้งนักลงทุนและนักเก็งกำไรให้ความสนใจกับหุ้น IPO นั่นเอง
ดังนั้น สิ่งที่ควรระวังก็คือการที่ IPO แม้ว่าราคาจะขึ้นได้ไม่จำกัด ที่หมายความว่าราคาก็ลดลงได้ไม่จำกัดเช่นกัน
ข้อระวังเกี่ยวกับหุ้น IPO
เพราะหุ้น IPO เป็นหุ้นใหม่ ทำให้ไม่มีข้อมูลย้อนหลังที่มากพอการคาดการณ์จึงทำได้ลำบาก อีกทั้งในช่วง 1-2 ปีก่อนที่จะเปิดขายหุ้น IPO ตัวนั้นอาจมีการแต่งงบเพื่อทำให้บริษัทดูดี (ในระยะสั้น) แต่เมื่อเข้าสู่ตลาดไปในระยะหนึ่ง บริษัทจะค่อย ๆ กลับสู่สภาพความเป็นจริงทั้งจากการที่นักลงทุนหมดความสนใจ และจากการไม่มีแรงส่งจากความสดใหม่และหน้าข่าวที่ประโคมให้แบบในช่วงแรก ๆ อีกต่อไป
ดังนั้นสิ่งสำคัญของนักลงทุนในการลงทุนในหุ้น IPO คือวิจารณญาณและความรู้ของนักลงทุนในการอ่านข้อมูลจากหนังสือชี้ชวน บทวิเคราะห์ เพื่อให้เข้าใจธุรกิจ โอกาสและการเติบโตในอนาคต รวมถึงความเสี่ยงของบริษัท
โดยสิ่งที่นักลงทุนควรสังเกตและควรรู้เกี่ยวกับกิจการที่กำลังจะออกหุ้น IPO หรือ Initial Public Offering ได้แก่
- ความสามารถในการแข่งขันของบริษัท
- โอกาสในอนาคตของบริษัท
- โครงการในอนาคตและวัตถุประสงค์การใช้เงิน
- ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา
- หุ้น IPO ดังกล่าวเข้ามาในตลาดเพื่ออะไร?
- เป็นหุ้น IPO ที่เหลือมาจากการที่ขายไม่หมดหรือไม่?
- ทีมผู้บริหารและโครงสร้างผู้ถือหุ้น
สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้น IPO สามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่กำลังจะ Initial Public Offering หรือ IPO สู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ที่เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ (หลักทรัพย์ IPO)
ข้อมูลอ้างอิงจาก: SETinvestnow, Investopedia, Forbes