อัตราส่วนสภาพคล่อง หรือ Liquidity Ratio คือ อัตราส่วนทางการเงินสำหรับการวัดสภาพคล่องทางการเงินของกิจการ ที่จะแสดงให้เห็นความสามารถในการชำระหนี้หมุนเวียนหรือหนี้ระยะสั้นของกิจการ ว่าในระยะสั้นบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนพอที่จะจ่ายหนี้ระยะสั้นหรือไม่
โดยอัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity Ratios) ที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์งบการเงินจะมีอยู่ 2 อัตราส่วน ได้แก่ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) และ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio)
Liquidity Ratios หรือ อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงิน จะเป็นอัตราส่วนทางการเงินที่คำนวณจากการนำสินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) มาเปรียบเทียบกับหนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) เพื่อหาอัตราส่วน (Ratio) ว่าบริษัทมีสินทรัพย์เป็นกี่เท่าของหนี้สินหมุนเวียน
วิธีคำนวณอัตราส่วนสภาพคล่อง
ถึงแม้ว่า Liquidity Ratios หรืออัตราส่วนสภาพคล่องจะมีอยู่ 2 รูปแบบ แต่วิธีคำนวณทั้งอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) และอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio) จะแตกต่างกันเพียงแค่มีการหักสินค้าคงเหลือ (Inventory) ออกจากสินทรัพย์หมุนเวียนในกรณีของ Quick Ratio เท่านั้น
โดยอัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Ratios) ทั้ง 2 อัตราส่วนสามารถคำนวณ ได้ดังนี้:
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) = สินทรัพย์หมุนเวียน ÷ หนี้สินหมุนเวียน
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio) = (สินทรัพย์หมุนเวียน – สินค้าคงเหลือ) ÷ หนี้สินหมุนเวียน
โดยการแปลผลอัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Ratios) ที่คำนวณได้ของทั้ง 2 อัตราส่วน ควรจะมีค่ามากกว่า 1 หรือ มีสินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) มากกว่า หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) จึงจะมีความสามารถพอที่จะจ่ายหนี้ได้
อัตราส่วนสภาพคล่องมีค่ามากกว่า 1 หมายความว่า บริษัทมีสภาพคล่องดี สินทรัพย์มากกว่าหนี้ มีสินทรัพย์พอที่จะจ่ายหนี้ระยะสั้น
อัตราส่วนสภาพคล่องมีค่าน้อยกว่า 1 หมายความว่า บริษัทขาดสภาพคล่อง มีหนี้ระยะสั้นมากกว่าสินทรัพย์ระยะสั้น หรือก็คือมีสินทรัพย์ระยะสั้นไม่พอจ่ายหนี้ ซึ่งอาจทำให้กิจการต้องกู้เงินเพิ่มหรือเปลี่ยนสินทรัพย์ระยะยาวเป็นเงินเพื่อมาใช้หนี้โดยไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่สนใจอัตราส่วนสภาพคล่องและอัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์สามารถหาได้จากรายงานประจำปีของแต่ละบริษัทที่เว็บไซต์ www.set.or.th ซึ่งมี Liquidity Ratio คำนวณเอาไว้ให้เรียบร้อยแล้ว
Liquidity Ratios บอกอะไร?
Liquidity Ratios หรือ อัตราส่วนสภาพคล่อง คือ การเปรียบเทียบด้วยการหาร เพื่อหาว่าสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นกี่เท่าของหนี้สินหมุนเวียน เช่น มีสินทรัพย์หมุนเวียน 300 บาท และมีหนี้สินหมุนเวียน 100 บาท อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) จึงเท่ากับ 300 ÷ 100 = 3 เท่า
ดังนั้น คำตอบที่มากกว่า 1 ก็จะหมายความว่าตัวตั้ง (ในที่นี้คือสินทรัพย์หมุนเวียน) มากกว่าตัวหาร (ในที่นี้คือหนี้สินหมุนเวียน) ซึ่งสะท้อนว่าสินทรัพย์หมุนเวียนนั้นมากกว่าหนี้สินหมุนเวียนกี่เท่า ดังนั้น Liquidity Ratio จึงเป็นเครื่องมือในการวัดสภาพคล่องของกิจการว่ามีมากกว่าภาระอยู่กี่เท่า
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะบอกว่า Liquidity Ratio คำนวณแล้วได้ค่ามากกว่า 1 คือสิ่งที่ดี แต่บางครั้งสินทรัพย์หมุนเวียนที่มีอยู่มากเกินไปอาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป ตัวอย่างเช่น
สินค้าคงเหลือ (Inventory) มีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้าเอาไว้ อาจหมดอายุระหว่างเก็บ หรือสินค้าเทคโนโลยีที่เก็บไว้นานๆแล้วตกรุ่น
ลูกหนี้การค้า (Account Receivable) ถ้าหากว่าบริษัทไม่สามารถจัดเก็บหนี้ได้ก็ไม่มีค่าอะไร ดังนั้น Liquidity Ratio ที่มีค่ามากแต่ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้การค้า ก็ไม่ได้แปลว่าบริษัทสภาพคล่องสูงอยู่ดี
ดังนั้น ในการวิเคราะห์งบการเงินจึงไม่สามารถใช้อัตราส่วนทางการเงินตัวใดตัวหนึ่งเพื่อตัดสินทุกอย่างในมิติดังกล่าว และแนะนำให้ใช้อัตราส่วนทางการเงินหลายตัวประกอบกันเพื่อความแม่นยำของการวิเคราะห์