ดอกเบี้ยติดลบ คือ นโยบายการเงินของธนาคารกลาง (Central Bank) ที่จะใช้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 0% หรือ อัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate Policy) เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงินนำเงินที่เก็บไว้ออกไปลงทุน เช่น ปล่อยเงินกู้ให้ภาคเอกชน และปล่อยกู้ให้ภาคครัวเรือน
ภายใต้อัตราดอกเบี้ยติดลบ หรือ Negative Interest Rate Policy เมื่อสถาบันการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์นำเงินทุนไปฝากไว้ที่ธนาคารกลาง (Central Bank) ธนาคารพาณิชย์จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารกลาง แทนที่จะได้รับดอกเบี้ยเหมือนกับการฝากเงินช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเป็นบวกปกติ
ดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate) คือ สิ่งที่ช่วยทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากฝากเงินกับธนาคารกลาง และนำเงินทุนที่จะฝากไปใช้กับการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่ทำเพื่อกระตุ้นการปล่อยกู้ให้กับภาคเอกชนและบุคคลธรรมดา โดยเป้าหมายของดอกเบี้ยติดลบคือการแก้ปัญหาภาวะเงินฝืด (Deflation) ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการลดดอกเบี้ยให้ใกล้ 0% ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะ ณ จุดที่จะใช้นโยบาย ดอกเบี้ยติดลบ คือ จุดที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับ 0% หรือมากกว่า 0% เล็กน้อย
พูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือ ขนาดลดดอกเบี้ยมาจน 0% หรือเกือบ 0% ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นให้คนทั่วไปกล้าจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้คนทั่วไปมีกำลังซื้อมากขึ้นด้วยการทำให้ธนาคารปล่อยกู้มากขึ้น ซึ่งเราจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ในหัวข้อถัดไป
ทำไมต้องใช้ อัตราดอกเบี้ยติดลบ (NIRP)
ดอกเบี้ยติดลบ คือ อะไรตอนนี้น่าจะพอเข้าใจแล้ว ดังนั้นเราจะพากลับไปหาปัญหาที่เป็นสาเหตุที่ต้องใช้ อัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate) ซึ่งก็คือ เงินฝืด (Deflation) ซึ่งเป็นภาวะที่คนไม่อยากใช้เงิน เพราะมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี (ประหยัดไว้ก่อนดีกว่าหรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม)
เมื่อคนไม่อยากซื้อของหมายความว่าไม่มีความต้องการสินค้า และเมื่อสินค้าบางอย่างไม่มีความต้องการซื้อสินค้า (Demand) ราคาของสินค้านั้นจะลดลงเรื่อยๆ ตามกฎของอุปสงค์ (Law of Demand)
เมื่อสินค้าราคาลดลงเรื่อยๆ และลดลงมาก ในขณะที่ต้นทุนการผลิตและดอกเบี้ยเงินกู้ยังเท่าเดิม ผู้ที่ได้รับผลกระทบตรงนี้คือผู้ผลิตสินค้า ซึ่งหลังจากนี้เราจะเรียกว่า “โรงงาน” ณ จุดนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับโรงงานที่ได้รับผลกระทบจะมีอยู่ 2 ทางหลักคือ
- โรงงานที่รับภาระต้นทุนและดอกเบี้ยไม่ไหวก็อาจจะถึงขั้นปิดตัว
- โรงงานที่ยังเหลือรอดก็ทำได้แค่ประคองตัวไป ด้วยการลดต้นทุนและผลิตสินค้าให้น้อยลง นั่นหมายความว่าจากเดิมที่มี OT ก็ไม่มีแล้ว จากเดิมที่ต้องจ้างพนักงานเพิ่มก็ไม่จ้างแล้ว จากเดิมที่จะขยายธุรกิจก็ไม่ทำแล้ว
จากทั้ง 2 ข้อสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ พนักงานตกงาน พนักงานมีรายได้ลดลง และพนักงานกลัวที่จะตกงานจากความไม่แน่นอน ตรงนี้เองคือผลกระทบระลอก 2 ที่ทำให้คนยิ่งสั่นกลัวและไม่กล้าใช้เงินมากขึ้นไปอีก ส่วนโรงงานอื่นๆ เมื่อเห็นท่าไม่ดีก็ไม่กล้าลงทุนโดยเฉพาะโครงการใหญ่
เมื่อไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ก็จะวนกลับไปหาประเด็นการจ้างงานที่ไม่เพิ่มขึ้นและวนกลับไปที่ประเด็นที่คนไม่กล้าใช้เงินในตอนต้นไปเรื่อยๆ และทั้งหมดคือภาวะเงินฝืด (Deflation) แบบคร่าวๆ ที่ทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศตัดสินใจใช้ ดอกเบี้ยติดลบ หรือ Negative Interest Rate
- อ่านเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจกับเงินฝืดแบบละเอียดได้ที่บทความ เงินฝืด (Deflation) คืออะไร? และเกิดจากอะไร?
ดอกเบี้ยติดลบ สำคัญอย่างไร?
หัวข้อที่แล้วจะเห็นว่าสิ่งที่ทำให้ต้องใช้มาตรการ ดอกเบี้ยติดลบ คือ การที่คนไม่จับจ่ายใช้สอยเพราะไม่มีเงินหรือไม่กล้าใช้เงิน ดังนั้นโจทย์ก็คือการทำให้คนมีกำลังซื้อ แต่คนจะมีกำลังซื้อได้เมื่อมีงานทำ และการที่จะมีงานทำได้ก็ต้องมีการลงทุนของ “โรงงาน” ที่เราได้พูดถึงในหัวข้อที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์เดียวกันไม่ใช่แค่โรงงานที่ไม่อยากลงทุน ฝั่งธนาคารพาณิชย์เองก็ไม่อยากปล่อยกู้เหมือนกันเพราะมีความเสี่ยงสูงที่เงินกู้จะกลายเป็นหนี้สูญ (NPL) ดังนั้นสิ่งที่ธนาคารเหล่านี้ทำก็คือนำเงินไปฝากไว้กับธนาคารกลาง ที่ถึงจะได้ดอกเบี้ยต่ำแต่ก็ดีกว่าปล่อยกู้แล้วกลายเป็นหนี้สูญ (NPL)
ตรงส่วนนี้เองที่ อัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate Policy) เข้ามามีบทบาทเพราะการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำกว่า 0% หรือ ดอกเบี้ยติดลบ คือ สิ่งที่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์จะไม่ได้ดอกเบี้ยจากการฝากเงินไว้กับธนาคารกลางอีกแล้ว หรือพูดง่ายๆ ดอกเบี้ยติดลบ คือ การกระตุ้นให้ธนาคารนำเงินไปปล่อยกู้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในการฝากเงินกับธนาคารกลาง
เมื่อมีการกู้เงินก็จะทำให้เกิดการลงทุนก็จะทำให้มีเงินเข้าไประบบเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่การจ้างงานที่เป็นรายได้ของคนทั่วไปในระบบเศรษฐกิจ และนี่เองคือเป้าหมายของนโยบาย NIRP หรือ Negative Interest Rate Policy
นอกจากนี้อีกผลกระทบของ ดอกเบี้ยติดลบ คือ ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากของคนทั่วไปต่ำลง (ไม่ได้ติดลบ แต่ดอกเบี้ยต่ำมาก) ส่งผลให้คนนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าหรือเท่าเดิมมากขึ้น
ผลกระทบจาก Negative Interest Rate Policy คืออะไร?
Negative Interest Rate Policy หรือ ดอกเบี้ยติดลบ ไม่ได้มีแต่ด้านดีที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการลดต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว โดยผลกระทบอีกด้านของ อัตราดอกเบี้ยติดลบ คือ ประเด็นต่อไปนี้
- ธนาคารพาณิชย์มีกำไรส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ต่ำ ตามดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำ
- Fund Flow หรือเงินลงทุนจากต่างชาติไหลออกจากประเทศ เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนลดลง (ดอกเบี้ยสัมพันธ์กับผลตอบแทน)
- การออมเงินด้วยการฝากเงินของภาคประชาชนลดลงตามผลตอบแทนที่ลดลง
ในช่วงที่ผ่านมามีอยู่ทั้งหมด 5 ประเทศที่ใช้ดอกเบี้ยติดลบ Negative Interest Rate Policy หรือ NIRP คือ เดนมาร์กเมื่อปี 2012, ยุโรปเมื่อปี 2014, สวิสเซอร์แลนด์ เมื่อปลายปี 2014, สวีเดนเมื่อปี 2015, และญี่ปุ่นเมื่อปี 2016 ซึ่งทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบในลักษณะนี้
ข้อมูลอ้างอิงจาก: Federal Reserve, Bloomberg, IMF