เครดิตภาษีเงินปันผล คือ การขอคืนภาษีในกรณีที่ผู้มีเงินได้มีรายได้เป็นเงินปันผล (Dividend) จากการลงทุนในหุ้นแล้วถือหุ้นไว้จนได้รับเงินปันผล โดยสาเหตุที่ต้องมีการ เครดิตภาษีเงินปันผล มาจากปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อน เนื่องจากเงินปันผลจริงๆ แล้วผ่านการจ่ายภาษีภาษีเงินได้นิติบุคคลมาแล้ว 1 รอบ
เพราะการที่บริษัทจะจ่ายเงินปันผลได้แปลว่าบริษัทมีกำไร และการที่บริษัทมีกำไรหมายความว่าบริษัทต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้ว 20% ก่อนจะกลายมาเป็นเงินปันผลถึงมือนักลงทุน อีกทั้งตอนที่คุณได้รับเงินปันผล คุณก็จะต้องจ่ายภาษี หัก ณ ที่จ่าย อีก 10% ซี่งถือว่าเป็น การเก็บภาษีซ้ำซ้อน
สมมติว่า บริษัท GIG มีกำไรคิดเป็น 100 บาท ก็จะต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% (100 บาท x 20%) เหลือ 80 บาทสำหรับการจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุน จากนั้นสมมติว่าบริษัท GIG จ่ายเงินปันผล 80 บาท ทางฝั่งนักลงทุนที่ซื้อหุ้นเมื่อได้รับเงินปันผลก็จะต้องจ่าย ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% (80 บาท x 10% = 8 บาท) ทำให้เหลือเงินปันผลถึงมือนักลงทุนจริงๆ 72 บาท
จะเห็นว่าจากกำไร 100 บาทต่อหุ้น เมื่อถึงมือผู้ถือหุ้นเงินปันผลเหลือแค่ 72 บาท จากการจ่ายภาษีซ้ำซ้อน 2 รอบ รวมภาษีทั้งหมด 28%
จากตัวอย่างจะเห็นว่า เงินปันผล (Dividend) จำนวนดังกล่าวจ่ายภาษีรวมทั้งหมด 28% แต่ในความเป็นจริงผู้ที่ได้รับเงินปันผลอาจจะมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่จ่ายภาษีแค่ 15% ก็ได้ซึ่งแน่นอนว่าไม่สมเหตุสมผล จึงทำให้มีการ เครดิตภาษีเงินปันผล เพื่อคืนเงินส่วนที่เกินจากส่วนที่ต้องจ่ายจริงๆ
วิธีคำนวณ เครดิตภาษีเงินปันผล
วิธีคำนวณ เครดิตภาษีเงินปันผล สามารถทำได้โดยกดเครื่องคิดเลขตามสูตรคำนวณนี้: เครดิตภาษีเงินปันผล = เงินปันผลที่ได้รับ x (อัตราภาษีนิติบุคคล ÷ (100 – อัตราภาษีนิติบุคคล))
- โดยในปัจจุบัน อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ 20%
ตัวอย่าง นางสาว B ได้รับเงินปันผล 800 บาท โดยฐานภาษีของนางสาว B คือ 15%
- เครดิตภาษีเงินปันผล = 800 x (20 ÷ (100 – 20)) = 200 บาท
เพราะฉะนั้นจำนวนเงิน เครดิตภาษีเงินปันผล ที่นางสาว B จะได้รับคืนมาก็คือ 200 บาท ซึ่งจะต้องนำเงินจำนวน 200 บาทนี้ไปรวมเป็นเงินได้พึงประเมิน เนื่องจาก เครดิตภาษีเงินปันผล ที่ได้คืนมาถือว่าเป็นเงินได้
ดังนั้น เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 จากเงินปันผลของนางสาว B จะเท่ากับ 800 จากเงินปันผล + 200 จากเครดิตปันผล = 1000 บาท
ควรใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผลหรือไม่?
สำหรับใครที่กำลังลังเลว่าควรใช้สิทธิ เครดิตภาษีเงินปันผล หรือไม่สามารถพิจารณาได้จาก อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของระดับรายได้คุณ เทียบกับ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่จ่ายเงินปันผลให้คุณ
ถ้าหาก อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา < อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่จ่ายปันผล ควรยื่นเครดิตภาษี
ถ้าหาก อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา > อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่จ่ายปันผล ไม่ควรยื่นเครดิตภาษี
จากตัวอย่างเดิมจะเห็นว่านางสาว B เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 15% ซึ่งน้อยกว่า 28% (ที่ถูกหักภาษีซ้ำซ้อน 2 ครั้ง 20% รอบแรก 10% รอบที่ 2 ตามที่อธิบายในตอนต้น) ทำให้นางสาว B ควรที่จะขอเครดิตภาษีเงินปันผล
ในทางกลับกันถ้านางสาว B เสียภาษีด้วยฐานภาษีมากกว่า 28% ซึ่งก็คือฐานภาษี 30% นางสาว B จึงจำไม่ควรขอเครดิตภาษีเงินปันผล เพื่อที่จะได้ไม่ต้องนำเงินได้จากเงินปันผลมารวมคำนวณเป็นเงินได้
เงื่อนไขเครดิตภาษีเงินปันผล
- บริษัทที่จ่ายเงินปันผลต้องเป็นบริษัทไทย
- มีภูมิลำเนาในไทย หรือ อยู่ในครบ 180 วันในปีภาษีที่จะยื่นเครดิตภาษีเงินปันผล
- ต้องยื่นเครดิตภาษีเงินปันผลทุกหลักทรัพย์ที่ได้เงินปันผลในปีภาษี
- ต้องคำนวณจากเงินปันผลทุกงวดที่เกิดในปีภาษีนั้นๆ ไม่สามารถเลือกยื่นแค่บางงวดได้
สามารถยื่น เครดิตภาษีเงินปันผล ได้ที่ https://www.set.or.th/tsd/th/tsd.html (ต้องสมัครสมาชิกก่อน)