เงินอ่อนค่า คืออะไร?
เงินอ่อนค่า คือ การที่มูลค่าของเงินสกุลหนึ่งมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง เนื่องจากปริมาณความต้องการเงินสกุลดังกล่าวลดลง ซึ่งเงินอ่อนค่า (Depreciation) จะส่งผลให้สามารถใช้เงินเท่าเดิมแลกเงินอีกสกุลหนึ่งได้น้อยลง
ตัวอย่างเช่น เมื่อวาน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แลกได้ 30 บาท แต่วันนี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แลกได้ 31 บาท นั่นหมายความว่าวันนี้เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และในทางกลับกันจากตัวอย่างเดิมหมายความว่า เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท
โดยวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำความเข้าใจเงินอ่อนค่า (Depreciation) คือการให้มองเงินอีกสกุลที่นำมาเทียบกับเงินบาทเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง โดยที่อัตราแลกเปลี่ยนคือราคาของสินค้านั้น ถ้าหากว่าราคาสินค้าเพิ่มขึ้นหมายความว่าเงินบาทอ่อนค่า
- เมื่อวานใช้เงิน 30 บาทซื้อดอลลาร์ฯ
- วันนี้ใช้เงิน 31 บาทซื้อดอลลาร์ฯ
การที่ 1 ดอลลาร์ฯ หรือสินค้าของเราเท่าเดิมต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการซื้อ นั่นหมายความว่าวันนี้เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นั่นเอง
ใครได้ประโยชน์จากเงินอ่อนค่า
ผู้ที่ได้ประโยชน์จากเงินอ่อนค่าคือผู้ที่ต้องแลกเงินสกุลต่างชาติกลับมาเป็นเงินบาท ตัวอย่างเช่น ผู้ส่งออก และนักลงทุนที่นำเงินลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศ
ตัวอย่างที่ 1 สมมติว่าบริษัท DPC ขายของให้ต่างชาติได้ $10,000 โดยปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ $1 = 35 บาท การแลกเงินกลับมาจะได้เงิน 350,000 บาท แต่ถ้าหากรอเงินบาทอ่อนค่าเป็น $1 = 36 บาท แล้วค่อยแลกเงินกลับมาจะทำให้ได้เงินกลับมา $360,000 นั่นหมายความว่าบริษัท DPC จะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 10,000 บาท
ตัวอย่างที่ 2 สมมติว่าบริษัท DPG ส่งออกยางพาราไปยังสหรัฐฯ ในราคากิโลกรัมละ 35 บาท โดยปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ $1 = 35 บาท การนำเข้ายางพาราของสหรัฐฯ 1 ตันจะต้องใช้เงิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่เมื่องเงินบาทอ่อนค่าลงเหลือ $1 = 36 บาท ผู้นำเข้าจะใช้เงินเพียง 972.22 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในการนำเข้ายางพารา 1 ตัน ซึ่งเงินส่วนต่างที่เหลืออาจทำให้ผู้นำเข้าสั่งสินค้าจากบริษัท DPG เพิ่มขึ้น
ใครเสียประโยชน์จากเงินอ่อนค่า
ผู้ที่เสียประโยชน์จากการที่เงินอ่อนค่าคือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนเงินบาทเป็นเงินสกุลต่างชาติ ตัวอย่างเช่น ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และผู้ที่มีหนี้เป็นเงินสกุลอื่น เพราะต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเป็นสินค้าจำนวนเท่าเดิม (เหมือนตัวอย่างที่ 1 ดอลลาร์แพงขึ้น)
ตัวอย่าง สายการบินแห่งหนึ่งในประเทศไทยกู้เงินจากต่างประเทศจำนวน $10,000 โดยวันที่กู้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ ฿34 ต่อ $1 เงินกู้เมื่อแลกกลับเป็นเงินบาทเท่ากับ 340,000 บาท (34 x 10,000)
แต่ในวันที่ครบกำหนดจ่ายหนี้ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ ฿35 ต่อ $1 ทำให้เงินบาทที่ต้องใช้แลกเป็นเงินดอลลาร์เพื่อใช้คืนเจ้าหนี้ต่างประเทศเท่ากับ 350,000 บาท (35 x 10,000)
การที่เงินบาทอ่อนค่าลงในตัวอย่างส่งผลให้สายการบินที่กู้เงินมาจากต่างประเทศต้องจ่ายหนี้เพิ่มขึ้น 10,000 บาท (แบบไม่รวมดอกเบี้ย) ทั้งที่เงินต้นคือ $10,000 เหมือนเดิม
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเงินอ่อนค่า
เงินอ่อนค่า คือ การที่มูลค่าของเงินสกุลหนึ่งมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง ส่งผลให้สามารถใช้เงินเท่าเดิมแลกเงินอีกสกุลหนึ่งได้น้อยลง
ผู้ที่ได้ประโยชน์จากเงินอ่อนค่าคือผู้ที่ต้องแลกเงินสกุลต่างชาติกลับมาเป็นเงินบาท เช่น ผู้ส่งออก และนักลงทุนที่นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ เป็นต้น
ผู้ที่เสียประโยชน์จากการที่เงินอ่อนค่าคือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนเงินบาทเป็นเงินสกุลต่างชาติ ตัวอย่างเช่น ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และผู้ที่ต้องชำระหนี้เป็นเงินสกุลต่างประเทศ
เงินอ่อนค่า (Depreciation) เกิดจากปริมาณความต้องการเงินสกุลดังกล่าวลดลง