ไขปัญหาคาใจสำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำงาน เงินเดือนเท่าไหร่ เสียภาษี ? ต้องมี รายได้เท่าไหร่ หรือ เงินเดือนเท่าไหร่ ถึง เสียภาษี กันแน่!?
สำหรับการไขปัญหาว่า รายได้เท่าไหร่ หรือ เงินเดือนเท่าไหร่ เสียภาษี ในบทความนี้เราจะพูดถึงเฉพาะผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนเพียงอย่างเดียว (แต่สามารถอ่านบทความนี้เพื่อทำความเข้าใจหลักของการเสียภาษี)
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เงื่อนไขของบทความนี้จะมีอยู่ 2 เงื่อนไข เพื่อความง่ายในการทำความเข้าใจสำหรับที่ผู้ที่ยังเป็นมือใหม่ในเรื่องของภาษี
- มีรายได้เป็นเงินเดือนเพียงอย่างเดียว (ไม่ขายของออนไลน์ ไม่มีรายได้จากโฆษณา)
- โสด (ในที่นี้คือไม่ได้จดทะเบียนสมรส)
พูดง่ายๆ คือ เป็นกรณีที่ยังไม่ได้ใช้ สิทธิลดหย่อนภาษี ที่ชวนงง เป็นรายได้และการลดหย่อนภาษีที่ Basic ที่สุด (เหมาะกับน้องๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงาน หรือผู้ที่กำลังเริ่มเสียภาษี)
พื้นฐาน การคำนวณภาษี
สำหรับผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษี ก่อนที่จะรู้ว่า เงินเดือนเท่าไหร่ เสียภาษี มาทำความเข้าใจกับพื้นฐานของ วิธีคำนวณภาษี กันก่อน โดยตัวเลขของเงินได้ที่จะนำมา คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะเรียกว่า “เงินได้สุทธิ” มาจาก:
เงินได้สุทธิ = (เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย) – ค่าลดหย่อนภาษี
หรือพูดเป็นภาษาคนแบบไม่ต้องงงก็คือ เงินได้ทั้งปีรวมกัน ลบด้วย “ค่าใช้จ่าย” จากนั้นหักด้วย “ค่าลดหย่อน” ก็จะได้เป็น “เงินได้สุทธิ” พร้อมสำหรับการนำไปคำนวณหาภาษีที่ต้องจ่ายในขั้นต่อไป โดยการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเป็น ภาษีอัตราขั้นบันได
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบบขั้นบันได

สรุปแบบง่ายๆ สำหรับคำถามที่ว่า เงินเดือนเท่าไหร่ เสียภาษี คำตอบคือ ถ้าหากว่ามี “เงินได้สุทธิ” มากกว่า 150,000 จะเริ่มเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ย้ำว่า “เงินได้สุทธิ” ไม่ใช่มีรายได้จากเงินเดือนรวมกันทั้งปีเกิน 150,000 แล้วจะต้องเสียภาษี
เงินได้พึงประเมิน และ การหักค่าใช้จ่าย
รายได้ที่จะนำมาคำนวณภาษีหรือที่เรียกว่า เงินได้พึงประเมิน หรือ รายได้พึงประเมิน จะแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ซึ่งเงินได้แต่ละประเภทจะถูกกำหนด การหักค่าใช้จ่าย ไว้ด้วยเงื่อนไขและจำนวนที่ต่างกัน
โดยผู้ที่เป็นพนักงานที่กำลังอ่านบทความนี้และมีรายได้เป็น “เงินเดือน” เพียงอย่างเดียว เงินได้พึงประเมิน จะจัดอยู่ใน เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 สามารถ หักค่าใช้จ่าย ได้ 50% ของเงินได้พึงประเมิน (ทั้งปีรวมกัน) แต่ 50% ที่ว่าต้องไม่เกิน 100,000 บาท
ค่าลดหย่อนภาษี
ค่าลดหย่อน หรือ สิทธิลดหย่อนภาษี คือ สิทธิที่ผู้เสียภาษีสามารถใช้ได้ โดยจะใช้สิทธิได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือเข้าเงื่อนไข
โดยสิทธิลดหย่อนภาษีที่ทุกคนมีอยู่แล้ว เรียกว่า สิทธิลดหย่อนส่วนตัว ที่ทุกคนสามารถลดหย่อนได้ทันที 60,000 บาท
สำหรับค่าลดหย่อนภาษีอื่นๆ สามารถตรวจสอบ ได้ที่บทความ ค่าลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง
แล้วสรุป เงินเดือนเท่าไหร่ เสียภาษี?
อย่างที่บอกไว้ว่า เงินได้สุทธิ ทั้งปีต้องมากกว่า 150,000 บาท จึงจะเริ่มเสียภาษีอัตราขั้นบันไดที่อัตราร้อยละ 5
โดยกรณีของบทความนี้มีโจทย์ดังนี้
- หักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (เพราะเป็นรายได้จากเงินเดือน)
- สิทธิลดหย่อนภาษีจากค่าประกันสังคม 9,000 บาท
- สิทธิลดหย่อนภาษี 60,000 บาท สำหรับค่าลดหย่อนส่วนตัว
ดังนั้น ผู้ที่ต้องเสียภาษีคือผู้มีเงินเดือนตั้งแต่ 26,583.33 บาท ต่อเดือนขึ้นไป หรือมีรายได้ปีละ 319,000 บาทขึ้นไป
319,000 มาจากไหน ?
เงินได้พึงประเมินทั้งปี 319,000 บาท หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด 100,000 บาท หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท หักค่าลดหย่อนประกันสังคม 9,000 บาท จะเหลือเป็น เงินได้สุทธิ เท่ากับ 150,000 บาทพอดี (319,000 – 100,000) – 60,000 – 9,000 = 150,000
ซึ่งเงินได้สุทธิ 150,000 ต่อปี จะอยู่ในระดับที่ไม่ต้องจ่ายภาษี แต่ถ้ามากกว่านี้ต้องจ่าย โดยจะคำนวณจากส่วนที่เกินมาจาก 150,000 บาท
การคำนวณภาษีแบบวิธีขั้นบันไดมีวิธีคำนวณที่ค่อนข้างซับซ้อน ไม่ใช่การนำอัตราภาษีคูณเข้าไปตรงๆ แนะนำให้อ่านวิธีคำนวณภาษีเพิ่มเติมจากลิ้งด้านล่าง
วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา วิธีขั้นบันได้ แบบละเอียดที่บทความ วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ไม่ต้องยื่นภาษี
สำหรับผู้ที่ไม่ต้องยื่นภาษีคือผู้ที่มี เงินได้สุทธิ เท่ากับหรือน้อยกว่า 0 ซึ่งก็คือผู้ที่มีเงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท หรือมี เงินได้พึงประเมิน รวมกันทั้งปีไม่เกิน 120,000 บาท
เงินได้พึงประเมิน 120,000 บาท // หักค่าใช้จ่าย 50% หรือ 60,000 บาท // หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท // เงินได้สุทธิก็จะเท่ากับ 0 พอดี
ยื่นภาษีเฉยๆ (แต่ไม่ต้องเสียภาษี)
จากกรณี “ไม่ต้องยื่นภาษี” ด้านบนก็เห็นแล้วว่า ผู้ที่ต้องยื่นภาษี คือ ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาท ขึ้นไป หรือมีเงินได้พึงประเมินทั้งปีรวมกันแล้วมากกว่า 120,000 บาท
อย่างไรก็ตาม การยื่นภาษี ไม่ได้แปลว่าคุณต้องจ่ายภาษีเพราะถ้าหากว่า “เงินได้สุทธิ” ต่ำกว่า 150,000 บาทก็จะได้รับการยกเว้นภาษี
อย่างที่บอกไว้ว่าบทความนี้ยังไม่ได้ใส่ ค่าลดหย่อน อื่นที่คุณอาจจะใช้ได้เพิ่มเข้าไปทำให้ตัวเลขยังสูงอยู่ แนะนำให้ตรวจสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ค่าลดหย่อนรายการอื่นๆ ที่คุณอาจสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ที่ ค่าลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง
และสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับ ค่าลดหย่อนภาษี ที่มีการประกาศเพิ่มเติมหรือมีการเปลี่ยนแปลงได้ผ่านทาง Facebook Fanpage