GreedisGoods » Economics » เงินเฟ้อ เงินฝืด คืออะไร? เกิดจากอะไรและต่างกันอย่างไร

เงินเฟ้อ เงินฝืด คืออะไร? เกิดจากอะไรและต่างกันอย่างไร

by Kris Piroj
เงินเฟ้อ เงินฝืด คือ ภาวะเงินฝืด และ ภาวะเงินเฟ้อ คือ อะไร

เงินเฟ้อ เงินฝืด คืออะไร?

เงินเฟ้อ และ เงินฝืด คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจแบบหนึ่ง โดยทั้งเงินเฟ้อ เงินฝืด จะมาจากระดับราคาของสินค้าและบริการในประเทศนั้น ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตัวเลขทั่ง เงินเฟ้อ เงินฝืด แท้จริงแล้วคือตัวเลขตัวเดียวกัน เพียงแต่ เงินฝืดคือตัวเลขเงินเฟ้อที่ติดลบ

โดยทั้งเงินเฟ้อ (Inflation) และ เงินฝืด (Deflation) ในเบื้องต้นเป็นตัวเลขหนึ่งที่สามารถสะท้อนสภาพเศรษฐกิจให้เห็นว่าประเทศนั้น ๆ มีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อไม่ได้แย่เสมอไป เงินเฟ้อ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้วแต่ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม อย่างประเทศไทยก็จะมี ระดับเงินเฟ้อเป้าหมาย หรือ ระดับเงินเฟ้อที่เหมาะสม อยู่ที่ 0-3.5%

ในขณะเงินเฟ้อที่เป็นปัญหา คือ เงินเฟ้อในอัตราที่สูงมากเกินปกติ

ดังนั้น เพื่อความง่ายในการทำความเข้าใจทั้ง เงินเฟ้อและเงินฝืด แนะนำให้เริ่มจากทำความเข้าใจกับ เงินเฟ้อ (Inflation) ก่อนเป็นอันดับแรก

เงินเฟ้อ (Inflation)

ภาวะเงินเฟ้อ หรือ เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มูลค่าที่แท้จริงของเงินลดลง ทำให้เงินเท่าเดิมไม่สามารถซื้อสินค้าได้เท่าเดิมอีกต่อไป

ตัวอย่างเช่น ในอดีตเงิน 100 บาทสามารถซื้อสปาเก็ตตี้ได้ 1 จาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเงิน 100 บาทไม่สามารถซื้อสปาเก็ตตี้แบบเดิมได้อีกแล้ว

โดยสาเหตุของเงินเฟ้อ สามารถแบ่งเป็น 2 สาเหตุหลัก คือ Demand Pull และ Cost Push

Demand Pull คือ เงินเฟ้อที่เกิดจากการที่ความต้องการของสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินค้าและบริการเหล่านั้นมีอยู่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ราคาของสินค้าเพิ่มขึ้นตามหลักการพื้นฐานของอุปสงค์ (Demand)

Cost Push คือ เงินเฟ้อที่เกิดจากการที่ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจากการที่ต้นทุนของสินค้าและบริการเหล่านั้นเพิ่มขึ้น (ทำให้ผู้ขายต้องขึ้นราคาสินค้า)

ผลกระทบของ เงินเฟ้อ (Inflation):

  1. ค่าครองชีพสูงขึ้น จากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น
  2. ต้นทุนของสินค้าสูงขึ้น จากการที่สินค้าที่เป็นวัตถุดิบของอีกสินค้าหนึ่งเพิ่มขึ้น
  3. มูลค่าที่แท้จริงของเงินลดลง การปล่อยเงินทิ้งไว้เฉยๆ เมื่อเวลาผ่านไปเงินก้อนนั้นจะไม่สามารถซื้อสินค้าได้เท่าเดิม

เงินฝืด (Deflation)

เงินฝืด คือ ด้านตรงข้ามของของ เงินเฟ้อ (Inflation) หรือก็คือตัวเลขเงินเฟ้อที่มีค่าเป็นลบ โดยเงินฝืดคือการที่ราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุของการที่ราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างต่อเนื่องของ เงินฝืด (Deflation) จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ได้แก่

ความต้องการซื้อลดลง เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่ซื้อ ก็ทำให้ผู้ขายต้องลดราคาสินค้าลง ซึ่งความต้องการซื้อที่ลดลงอาจมาจากกำลังซื้อที่ลดลง

ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีน้อย หรือในระบบเศรษฐกิจมีเงินหมุนเวียนอยู่น้อย (เป็นผลตามมาจากการที่คนไม่ใช้เงิน)

จะเห็นว่าการที่จะเกิด 2 เหตุการณ์ด้านบนได้ ก็คือ การที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) หรือที่เรียกว่า “เศรษฐกิจไม่ดี”

ผลที่ตามมาของ ภาวะเงินฝืด (Deflation):

  1. อัตราการว่างงานสูง เมื่อไม่มีคนซื้อ ก็ไม่ต้องผลิต และแน่นอนว่าไม่มีงาน
  2. กำลังซื้อลดลง เมื่อไม่มีงาน ก็ไม่มีเงินซื้อสินค้า

ใครจัดการกับเงินเฟ้อและเงินผืด

จะเห็นว่า เงินเฟ้อ เงินฝืด คือ เรื่องของราคาสินค้าและเงิน ดังนั้นหน่วยงานที่คอยรับมือเงินเฟ้อและเงินฝืดในแต่ละประเทศก็คือ ธนาคารกลาง และกระทรวงพาณิชย์

ธนาคารกลาง (Central Bank) หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) สำหรับประเทศไทยจะดูแลเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Policy Rate

กระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce) ดูแลควบคุมเกี่ยวกับราคาสินค้า เช่น การจัดกับผู้ที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาที่อาจทำให้เงินเฟ้อแย่ไปกว่าเดิม และตรึงราคาสินค้าบางชนิดชั่วคราว

สามารถติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของไทย ได้ทางเว็บไซต์ของทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) และกระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce)

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด