GreedisGoods » Investment » เงินเย็น คืออะไร? ทำไมต้องลงทุนด้วยเงินเย็น

เงินเย็น คืออะไร? ทำไมต้องลงทุนด้วยเงินเย็น

by Kris Piroj
เงินเย็น คือ เงินลงทุน เงินเย็นกับเงินร้อน

เงินเย็น คือ เงินในส่วนที่นักลงทุนไม่ได้จำเป็นจะต้องนำไปใช้อะไร แม้แต่การนำไปใช้กับเรื่องฉุกเฉิน เรียกได้ว่าเงินเย็นเป็นเงินในส่วนที่เหลือหลังจากการวางแผนการเงินของแต่ละคน ทำให้เงินเย็นเป็นเงินในประเภทที่เสียไปก็ไม่ได้ทำให้เดือดร้อน (ถึงแม้ว่า อาจจะร้อนใจบ้าง)

เพราะในการลงทุน นักลงทุนไม่สามารถรู้ได้ว่ากว่าจะได้ผลตอบแทนในระดับที่คาดหวังจะต้องใช้เวลามาเท่าไหร่ หรือต้องขาดทุนนานแค่ไหน

แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้วยเงินเย็นก็ไม่ได้จำกัดว่าเป็นเรื่องของการลงทุนของบุคคลทั่วไปเท่านั้น

ในกรณีของกิจการ การลงทุนด้วยเงินเย็นก็ได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน เพราะอย่างที่บอกไว้ว่าเงินเย็นไม่ใช่เงินที่หายไปแล้วจะทำให้เดือดร้อนอะไร ทำให้เงินเย็นเหมาะกับการใช้ลองผิดลองถูกหรือทดลองอะไรใหม่ ๆ ที่กิจการคาดว่าจะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีได้อย่างเต็มที่

จนทำให้มีคำแนะนำในการลงทุนหลายครั้งแนะนำในลักษณะที่ว่า “ควรใช้เงินเย็นมาลงทุนเท่านั้น” หรือ “อย่าลงทุนด้วยเงินที่เงินที่เสียไม่ได้” ที่มักจะถูกพูดไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ อย่างเช่น หุ้น (Stock), กองทุนรวม (Mutual Fund), และอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) แต่รู้กันหรือไม่ว่าทำไมต้องใช้เงินเย็นลงทุน?

ทำไมต้องลงทุนด้วยเงินเย็น

สำหรับเหตุผลหลักว่าทำไมควรใช้เงินเย็นในการลงทุน ก็คือการที่เงินเย็นเป็นเงินที่ไม่ได้จำเป็นจะต้องนำไปใช้กับอะไรเป็นพิเศษ (แม้แต่กับเรื่องฉุกเฉิน) อย่างที่บอกไว้ในตอนต้น ทำให้การใช้เงินเย็นจะได้รับประโยชน์เหล่านี้:

เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินไม่จำเป็นต้องถอนเงินจำนวนนี้ออกมาจากพอร์ตการลงทุน ที่อาจต้องขายขาดทุนหรือทำกำไรได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดทุนมาก เพราะเป็นเงินที่หายไปก็ไม่ได้ทำให้เดือดร้อนถึงชีวิตประจำวันของนักลงทุน

จากข้อ 2 จะช่วยให้สามารถลงทุนได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังจนทำให้วางแผนการลงทุนผิดพลาดจากความร้อนใจ

เงินร้อน

ในทางกลับกันคำที่มาพร้อมกับคำว่าเงินเย็น ก็คือ เงินร้อน ที่เป็นด้านตรงข้าม โดยคำว่าเงินร้อนคือเงินที่นำมาลงทุนทั้งที่เงินจำนวนดังกล่าวอาจจะมีเรื่องจำเป็นอื่นที่จะต้องนำเงินจำนวนนี้ไปใช้ หรือมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เดือดร้อนเมื่อเสียเงินจำนวนดังกล่าวไปกับการลงทุน ตัวอย่างเช่น

เงินกู้ ถ้าหากไม่สามารถทำกำไรได้ทันกำหนดคืนเงิน ก็จำเป็นจะต้องถอนเงินลงทุนออกมาก่อนจะได้กำไร (ขายขาดทุน) หรือทำให้กำไรได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

เงินสำรอง ที่อาจจะต้องนำไปใช้ฉุกเฉินกับเรื่องบางอย่าง ทำให้จำเป็นต้องถอนเงินลงทุนก่อนกำหนดตามแผนที่วางไว้

เงินที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ในท้ายที่สุดเมื่อต้องใช้ก็จะต้องดึงเงินลงทุนออกมาจากพอร์ตการลงทุน ทำให้ไม่สามารถทำกำไรได้เต็มที่อย่างที่ควร

บทความที่เกี่ยวข้อง