เงินได้พึงประเมิน คือ ประเภทเงินได้ 8 ประเภท ตามเงื่อนไขประมวลรัษฎากรที่ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษี โดยการแบ่งกลุ่ม เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท จะแบ่งกลุ่มรายได้ตามลักษณะของอาชีพหรืองานที่ทำให้เกิดเงินได้ก้อนนั้น เนื่องจากกฎหมายมองว่าแต่ละอาชีพมีต้นทุนที่ต่างกัน
หน้าที่หลักของ เงินได้พึงประเมิน คือ การกำหนดว่าผู้มีเงินได้จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ด้วยวิธีไหนและหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดเท่าไหร่ รวมถึงใช้แยกประเภทผู้มีเงินได้ที่มี เงินได้พึงประเมิน บางประเภทซึ่งจะต้องยื่นภาษีครึ่งปี
แม้ว่า เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท จะเรียกว่า “เงินได้” แต่สิ่งที่สามารถนับเป็น เงินได้พึงประเมิน ไม่ได้มีแค่เงิน แต่จะรวมไปถึง เครดิตภาษีเงินปันผล เงินภาษีที่คนอื่นจ่ายแทนคุณ สิทธิประโยชน์และทรัพย์สินที่คำนวณเป็นเงินได้ อย่างเช่น การได้รับโอนหุ้น และการที่นายจ้างให้ที่พักพนักงาน
พูดแบบง่ายๆ เงินได้พึงประเมิน คือ อะไรก็ตามที่ได้มาแล้วทำให้คุณรวยขึ้น และคุณอยู่ในเงื่อนไขที่ต้องเสียภาษี (นายจ้างให้ที่พักพนักงาน = คุณไม่ต้องจ่ายค่าที่พักเอง) คุณก็จะต้องนำรายได้เหล่านั้นที่ได้รับระหว่างปีภาษีมาเป็น เงินได้พึงประเมิน
เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท มีอะไรบ้าง
เงินได้พึงประเมิน คือ ประเภทเงินได้ที่แบ่งเป็น 8 ประเภท โดยรายละเอียดของ เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท ตามมาตรา 40 ประมวลรัษฎากร ม.40(1) ถึง ม.40(8) แต่ละประเภทมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้
- เงินได้จากการจ้างงาน เช่น เงินเดือนของพนักงานเงินเดือน
- เงินได้จากค่าจ้างเป็นครั้งคราว เช่น ค่านายหน้า การจ้างงานเป็นครั้งคราว
- เงินได้จากค่า Goodwill ต่างๆ เช่น ค่าลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร
- รายได้ที่มาจาก ดอกเบี้ย และ เงินปันผล
- รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน จากการผิดสัญญาเช่าซื้อหรือซื้อขาย
- เงินได้จากวิชาชีพ ได้แก่ โรคศิลป กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี และประณีตศิลปกรรม
- เงินได้จากการรับเหมา ที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนจัดหาสัมภาระนอกจากเครื่องมือ
- รายการที่ไม่อยู่ใน เงินได้พึงประเมิน ประเภทที่ 1 ถึง 8 เช่น ธุรกิจ เกษตร อุตสาหกรรม ขนส่ง และการขายอสังหาริมทรัพย์
ผู้เสียภาษี 1 คนอาจมี เงินได้พึงประเมิน มากกว่า 1 ประเภทก็ได้ เช่น นาย A ทำงานประจำและมีอาชีพเสริมเป็น Programmer Freelance ก็จะมีทั้ง เงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ซึ่งนาย A ก็ต้องหักค่าใช้จ่ายให้ถูกต้องตามเงินที่ได้มาแต่ละช่องทาง เพื่อนำไปใช้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไป
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1
เงินได้ประเภทที่ 1 คือ เงินจากการจ้างแรงงาน ตัวอย่างเช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง เบี้ยหวัด เงินโบนัส เงินบำนาญ และเงินได้อื่นๆ ที่ผู้มีเงินได้ได้รับจากจ้างงาน
นอกจากนี้ เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 ยังรวมไปถึงผลประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับจากการจ้างงาน อย่างเช่น ค่าเช่าบ้านที่ได้จากบริษัท การที่บริษัทออกค่าที่อยู่ให้พนักงาน เงินค่ารับประทานอาหาร การที่นายจ้างจ่ายหนี้ให้ลูกจ้าง เป็นต้น
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และในกรณีที่ผู้มีเงินได้มีเงินได้ทั้ง เงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกัน แต่หักได้ไม่เกิน 100,000 บาท
ตัวอย่างเช่น นางสาว B เงินเดือนรวมทั้งปีภาษี 600,000 บาท 50% เท่ากับ 300,000 บาท แต่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 หักได้สูงสุดแค่ 100,000 บาท ทำให้การหักค่าใช้จ่ายของ นางสาว A ในส่วนนี้ทำได้แค่ 100,000 บาทเท่านั้น
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 คือ เงินได้จากค่าจ้างทั่วไปจากการรับทำงานให้เป็นครั้งคราว (ไม่ใช่การจ้างถาวรแบบพนักงานบริษัท) โดยรายได้ที่พบได้บ่อยของ เงินได้พึงประเมิน ประเภทนี้คือ งานฟรีแลนซ์ ค่านายหน้า ค่าคอมมิชชั่น ค่าธรรมเนียม การรับรีวิวสินค้า ค่าตอบแทนของพริตตี้ พิธีกร และ MC เป็นต้น
และเช่นเดียวกันกับ เงินได้ประเภทที่ 1 คือจะไม่ได้มีแค่เงินเท่านั้นที่เข้าเกณฑ์ แต่ยังรวมไปถึงผลประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มเติมจากการจ้างงานชั่วคราวด้วย อย่างเช่น การจ่ายหนี้ให้ และค่าเบี้ยประชุมที่ผู้ว่าจ้างออกให้
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท แต่ถ้าผู้มีเงินได้มี เงินได้พึงประเมิน ทั้งประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกัน แต่หักได้ไม่เกิน 100,000 บาท
ตัวอย่างเช่น นางสาว C เป็นพนักงานประจำ มีเงินเดือนรวมกันทั้งปี 300,000 บาท และรับงานฟรีแลนซ์ออกแบบเว็บไซต์ทำเงินได้ทั้งปี 600,000 บาท เมื่อรวมกันจะเห็นว่า มีเงินได้รวมทั้งหมด 900,000 บาทตลอดปีภาษี 50% คือ 450,000 บาท แต่จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้แค่ 100,000 บาทเท่านั้น

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 คือ เงินได้จากค่าแห่งกู๊ดวิลล์ (Goodwill) หรือ ค่าความนิยม พูดง่ายๆ เงินได้พึงประเมิน ประเภทนี้ คือ รายได้ที่มาจาก ค่าลิขสิทธิ์ ค่าสิทธิบัตร ค่าความนิยม ค่าทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า สูตร ค่าเฟรนไชส์ และทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนอื่นๆ
สำหรับในส่วนของการหักค่าใช้จ่าย เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 คือ รายได้ที่เกี่ยวกับการลงทุนทางการเงินต่างๆ ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผลหุ้น เงินส่วนแบ่งกำไร Cryptocurrency ผลประโยชน์จากการโอนหุ้น เงินจากการเพิ่มทุน และเงินจากการลดทุน
ในส่วนของ เงินได้พึงประเมิน ที่มาจาก ดอกเบี้ย (Interest) ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยพันธบัตร และดอกเบี้ยจากตั๋วเงิน
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้
แม้ว่า เงินปันผล จะเป็น เงินได้ประเภทที่ 4 ที่ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ แต่ก็สามารถเครดิตภาษีเงินปันผลคืนได้เนื่องจากบริษัทที่จ่ายเงินปันผลให้นักลงทุนได้จ่ายภาษีไปรอบหนึ่งแล้วในอัตรา 20%
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคำนวณขอ Credit ภาษีเงินปันผลได้ที่ เครดิตภาษีเงินปันผล คืออะไร? พร้อมวิธีคำนวณง่ายๆ

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 คือ เงินได้หรือประโยชน์ที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ที่ได้มาจาก การให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อ และการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน
การหักค่าใช้จ่ายของ เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งแบบตามจริงและหักแบบอัตราเหมา โดยอัตราเหมาจะกำหนดไว้ดังนี้
- บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ หักค่าใช้จ่ายได้ 30%
- ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร หักค่าใช้จ่ายได้ 20%
- ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตร หักค่าใช้จ่ายได้ 15%
- ยานพาหนะ หักค่าใช้จ่ายได้ 30%
- ทรัพย์สินอื่น หักค่าใช้จ่ายได้ 10%
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เช่าทรัพย์สินแล้วปล่อยเช่าทรัพย์สินดังกล่าวอีกทอด จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงเท่ากับค่าเช่าที่คุณจ่ายเพื่อเช่าจากเจ้าของเดิม
ในส่วนของการหักค่าใช้จ่ายของ รายได้พึงประเมิน จากการผิดสัญญาเช่าซื้อและการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน จะสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 20% แบบเดียวเท่านั้น
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 คือ เงินได้ที่ได้จากวิชาชีพอิสระ ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งจะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
สำหรับในส่วนของการประกอบโรคศิลปะ จะได้แก่ ทันตกรรม เภสัชกรรม เวชกรรม เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด ผดุงครรภ์ และพยาบาล
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งแบบตามจริงและอัตราเหมา โดยกำหนดไว้ดังนี้
- การประกอบโรคศิลปะ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60%
- กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 30%

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ (นอกจากเครื่องมือ) เช่น งานรับเหมาก่อสร้าง
เงินได้ประเภทที่ 7 สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งแบบตามจริงและแบบอัตราเหมา 60%
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 คือ เงินได้อื่นๆ ที่ไม่เข้าเงื่อนไขของ เงินได้พึงประเมิน ประเภทที่ 1 ถึง 7 อย่างเช่น เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 จะแตกต่างจาก เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 ถึง 7 ตรงที่ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกันไปในแต่ละรายการ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นค่าใช้จ่ายอะไร และในกรณีที่เป็นอัตราเหมาก็อาจจะหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากันในบางรายการ
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ที่สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งตามจริงและแบบเหมา 60% จะมีอยู่ทั้งหมด 43 ประเภทเงินได้ สามารถดูทั้งหมด 43 ประเภทเงินได้แบบละเอียดได้ที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร
เงินได้พึงประเมิน รายการอื่นๆ ของปะเภทที่ 8 ที่หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่ไม่ใช่ 60% ได้แก่
- นักแสดงสาธารณะ สามารถหักได้ทั้งแบบตามตริงและแบบเหมา 40-60% แต่ไม่เกิน 400,000 บาท
- การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดกหรือมีคนให้มา สามารถหักได้ทั้งแบบตามตริงและแบบเหมา 50%
- การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่มุ่งผลกำไร สามารถหักได้ทั้งแบบตามตริงและแบบเหมา 50-92%
สำหรับ เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 อื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในรายการตามด้านบนจะสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริงได้เท่านั้น
สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เงินได้พึงประเมิน ได้ที่ เว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://www.rd.go.th/m/553.0.html