Fishbone Diagram คืออะไร?
Fishbone Diagram คือ แผนผังก้างปลา หรือ แผนภูมิก้างปลา เป็นแผนผังสำหรับใช้วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาด้วยการหาเหตุและผลของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน ด้วยวิธีการถามซ้ำเพื่อหาสาเหตุของปัญหาย้อนกลับไปเรื่อย ๆ จนเจอต้นตอของปัญหา
โดยที่มาของชื่อ Fishbone Diagram หรือ แผนผังก้างปลา คือ การที่การวิเคราะห์ปัญหาด้วยแผนผังก้างปลาจะเขียนเป็นแผนผังที่มีลักษณะคล้ายกับก้างปลา (Fishbone) เพื่อแสดงให้เห็นว่าปัญหานั้นเกิดจากอะไร และอะไรทำให้เกิดสิ่งที่เป็นปัญหา
และเมื่อสามารถหาสาเหตุของปัญหาได้ผู้วิเคราะห์ปัญหาก็จะเห็นอย่างชัดเจนว่าจะต้องแก้ปัญหาจากส่วนไหนและแก้อย่างไร
ซึ่งถ้าหากลองทำความเข้าใจกับแผนผังก้างปลาดี ๆ จะพบว่าแผนผังก้างปลา (Fishbone Diagram) คือสิ่งที่ไม่ต่างอะไรจาก Mind Mapping ที่หลายคนได้ทำบ่อย ๆ เมื่อครั้งยังเป็นตอนเด็ก เพียงแต่เปลี่ยนวิธีเขียนแผนผัง
วิธีเขียนแผนผังก้างปลา (Fishbone Diagram)
แผนผังก้างปลา (Fishbone Diagram) จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนหัวปลา, ก้างใหญ่, และก้างเล็ก
ส่วนหัวปลา หรือ หัวลูกศร (ลูกศรสีดำ) เขียนแสดงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยปกติจะทำ 1 ปัญหาต่อ 1 ผังก้างปลา เพื่อความง่ายในการระบุปัญหา
ก้างใหญ่ (ลูกศรสีแดง) เขียนสาเหตุหลักของปัญหาหรือปัจจัยที่เป็นปัญหา ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา เขียน 1 ปัจจัยต่อ 1 ก้าง (เส้นสีแดง)
ก้างเล็ก (ลูกศรสีเขียว) จะเป็นก้างย่อยจากสีแดง เขียนสาเหตุที่ทำให้ปัจจัยนั้นเกิดปัญหาขึ้น สามารถเขียนได้มากกว่า 1 สาเหตุ ในแต่ละปัจจัย
นอกจากนี้ ก้างเล็กยังสามารถเขียนย่อยลงอีกได้เรื่อย ๆ (ลูกศร สีเขียว สีเทาและสีฟ้า) เท่าที่รู้ว่าปัญหามีสาเหตุมาจากอะไร การที่ยิ่งลงลึกยิ่งช่วยให้ผู้วิเคราะห์เห็นว่าปัญหามาจากตรงไหนชัดขึ้น

ตัวอย่าง แผนผังก้างปลา
สมมติว่า บริษัท GG Property ขายคอนโด แต่ยอดจองคอนโดไม่ถึงครึ่งของเป้าที่ได้ตั้งไว้ โดยสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1) การประชาสัมพันธ์ 2) ปัจจัยด้านทำเลที่ตั้ง
แผนผังก้างปลา (Fishbone Diagram) ของปัญหาดังกล่าว สามารถเขียนออกมาได้ตามแผนผังในภาพตัวอย่างด้านล่าง

หัวลูกศร (ปัญหา) → “ยอดจองคอนโดไม่ถึงเป้า”
สาเหตุหลัก (ลูกศรสีแดงเส้นที่หนึ่ง) → “การประชาสัมพันธ์” มีสาเหตุย่อยดังนี้
- โฆษณาป้ายอย่างเดียว
- ใช้เวลาโฆษณาน้อยไป
สาเหตุหลัก (ลูกศรสีแดงเส้นที่สอง) → “ทำเลที่ตั้ง” มีสาเหตุย่อยดังนี้
- ใกล้วัด
- อยู่ในซอยลึก
จากตัวอย่าง เมื่อเห็นถึงปัญหาผ่านทางแผนผังก้างปลา หรือ Fishbone Diagram หลายคนน่าจะพอนึกวิธีแก้ปัญหาออกแล้ว อย่างการที่อยู่ในซอยลึก ส่วนกลางของคอนโดก็ควรจะมีรถตู้รับส่งสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโด (เหมือนที่หลาย ๆ คอนโดทำ) และทั้งหมดก็คือเป้าหมายของการทำผังก้างปลา