แฟรนไชส์ คือ การที่เจ้าของธุรกิจหรือเจ้าของ Franchise ให้ใบอนุญาต (Licensing) หรือสัมปทานในการค้าหรือบริการภายใต้แบรนด์ของธุรกิจ โดยผู้ที่ได้รับสัมปทาน (Franchisees) ต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติของผู้ให้สัมปทาน (Franchisor) เพื่อทำให้ธุรกิจทั้งหมดใต้แฟรนไชส์ (Franchise) ดำเนินงานแบบเดียวกัน
สรุปให้ง่ายกว่านั้น Franchise หรือ ธุรกิจแฟรนไชส์ คือ เรื่องของการขายสิทธิ์ในการใช้ชื่อแบรนด์พร้อมกับขายระบบการทำงานของแบรนด์ให้กับผู้ลงทุนนั่นเอง
ส่วนใหญ่กิจการที่จะสามารถขายแฟรนไชส์ (Franchise) ได้นั้น จำเป็นที่จะต้องเป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงรู้จักกันอย่างแพร่หลาย พอที่จะทำให้ผู้ลงทุนมองเห็นโอกาสได้ว่าถ้าหากซื้อสัมปทานแฟรนไชส์มาแล้วสามารถขายได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นที่รู้จัก (เพราะลูกค้ารู้จักอยู่แล้ว)
โดยเราจะเรียกผู้ซื้อแฟรนไชส์ว่า Franchisee และเรียกเจ้าของแบรนด์ของธุรกิจแฟรนไชส์ที่เป็นผู้คิดค้นว่า Franchisor
ตัวอย่าง แฟรนไชส์ ที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันอยู่แล้ว ได้แก่ McDonald, KFC, Starbucks, ไก่ย่าง 5 ดาว, 7-11, A&W, Subway, แฟรนไชส์ชาไขมุก, และแฟรนไชส์กาแฟ เป็นต้น

รายได้ของแฟรนไชส์
ผลตอบแทนที่ผู้ให้สัมปทาน (Franchisor) หรือเจ้าของแบรนด์ของ ธุรกิจแฟรนไชส์ จะได้รับจากผู้ซื้อแฟรนไชส์ หลัก ๆ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ Royalty Fee และ Franchise Fee
Royalty Fee คือ ค่าตอบแทนที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) ต้องจ่ายให้กับเจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์ (Franchisor) อย่างต่อเนื่อง (ต่อเดือนหรือต่อปี) ซึ่งจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากรายได้จากการดำเนินงานที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) สามารถทำได้
Franchise Fee คือ ค่าธรรมเนียมในการซื้อแฟรนไชส์ เป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) เหมือนกับค่าแรกเข้าให้กับบริษัทแม่
อย่างไรก็ตาม ในบางแบรนด์อาจมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกจากนี้ที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) ต้องจ่ายให้กับเจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์ (Franchisor) อย่างเช่น Advertising Fee หรือค่าโฆษณา
Franchise ในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ
แฟรนไชส์ (Franchise) คือ หนึ่งในกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ที่มักจะถูกใช้โดยแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและมีขนาดใหญ่ เนื่องจาก แฟรนไชส์ คือ สิ่งที่มีข้อดีในเรื่องของความง่ายในการเข้าไปลงทุนในกรณีที่ไม่มีความพร้อมในการเข้าไปลงทุนโดยตรง หรือไม่มีความพร้อมในการทำความเข้าใจตลาดต่างประเทศ
ด้วยข้อดีดังกล่าวเป็นเหตุให้ Licensing เหมาะกับช่วงทดลองตลาดก่อนที่จะเข้าไปลงทุนทำธุรกิจเอง หรือในกรณีที่กิจการยังไม่แน่ใจหรือไม่มีความพร้อมในการเข้าไปลงทุนในประเทศดังกล่าวด้วยตนเองอย่างเต็มตัว
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศหรือ Mode of Entry ได้ที่บทความ การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ Mode of Entry