Six Forces Model คืออะไร?
Six Forces Model คือ เครื่องมือวิเคราะห์สภาพแวดล้อมการแข่งขันของอุตสาหกรรมหนึ่งจากปัจจัยกดดัน 6 ด้านที่ส่งผลต่อธุรกิจในอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้แก่ การแข่งขันกันภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน อำนาจต่อรองของผู้จัดหาวัตถุดิบ อำนาจต่อรองของลูกค้า ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน ภัยคุกคามจากผู้แข่งขันหน้าใหม่ และสินค้าที่ใช้ร่วมกัน
ใช้เพื่อวิเคราะห์ว่าธุรกิจจะพบภัยคุกคามอะไรเมื่อดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมดังกล่าวบ้างและปัจจัยแต่ละด้านรุนแรงมากแค่ไหน เพื่อใช้ในการสร้างกลยุทธ์ที่เหมาะสม รวมถึงใช้ในการพิจารณาว่าธุรกิจควรเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าวหรือควรหลีกเลี่ยง
โดย Six Forces Model เป็นแนวคิดที่ต่อยอดมาจาก Five Forces Model ของ Michael E. Porter ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Havard Business Review ในชื่อ “How Competitive Forces Shape Strategy” เมื่อปี 1979 ด้วยการเพิ่มปัจจัยกดดัน (Force) ที่ 6 เข้ามาก็คือ Complementary Products หรือสินค้าที่ใช้ร่วมกันเมื่อต้องใช้สินค้าบางอย่าง ทำให้แรงกดดันทั้ง 6 ของ Six Forces Model ประกอบด้วย:
- Industry rivalry คือ การแข่งขันกันภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน
- Bargaining Power of Suppliers คือ อำนาจต่อรองของ Supplier
- Bargaining Power of Customers คือ อำนาจต่อรองของลูกค้า
- Threat of Substitute Products คือ ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน
- Threat of New Entrance คือ ภัยคุกคามจากผู้แข่งขันหน้าใหม่
- Complementary Products คือ สินค้าที่ใช้ร่วมกัน (ใช้ประกอบกัน)
ในการวิเคราะห์ Six Forces Model สามารถทำได้โดยวิเคราะห์ว่าธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยกดดันหรือแรงกดดันทั้ง 6 ด้านมากน้อยแค่ไหน (อาจแบ่งเป็นส่งผลต่ำ ปานกลาง และมาก) ซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นด้านดีที่สุดคือ การที่ปัจจัยนั้นส่งผลต่ำกับธุรกิจ
Complementary Products (แรงจากสินค้าที่ใช้ร่วมกัน)
แรงกดดันที่ 6 ที่เพิ่มเข้ามาใน Six Forces Model คือ แรงกดดันจากสินค้าที่ใช้ร่วมกันกับสินค้าของเราหรือ Force of Complementary Products
Complementary Products หรือ Complementary Goods คือสินค้าที่ใช้ร่วมกันหรือใช้ประกอบกัน เป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อใช้ร่วมกับสินค้าอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าสินค้าดังกล่าวจะมีความจำเป็นมากแค่ไหนก็ใช้ร่วมกับสินค้าอีกชนิดหนึ่ง
ตัวอย่างของสินค้าที่ใช้ร่วมกัน (Complementary Products) ได้แก่ บริษัทขายรถยนต์น้ำมันมี Complementary Products อันดับแรกเป็นน้ำมันที่ต้องเติมอยู่ตลอดเวลา และในกรณีของเคสไอโฟนที่จะขายได้ก็ต่อเมื่อมีคนใช้ไอโฟน
ในการวิเคราะห์ Five Forces Model ในส่วนของแรงกดดันจาก Complementary Product จะเป็นการวิเคราะห์ว่าสินค้าของธุรกิจนั้นขึ้นอยู่กับสินค้าที่ต้องใช้ร่วมกันมากแค่ไหน ยิ่งสินค้าที่ต้องใช้ร่วมกันมีผลมากแรงกดดันจาก Complementary Product ก็จะยิ่งสูงตาม
และในทางกลับกันถ้าสินค้าไม่จำเป็นต้องใช้ร่วมกับสินค้าอื่น แรงกดดันก็จะอยู่ในระดับต่ำ
จากตัวอย่างของกรณีรถยนต์สันดาปที่สินค้าที่ต้องใช้ร่วมกันอย่างน้ำมันมีผลมากพอสมควร ถ้าหากว่าราคาน้ำมันแพงในระยะยาว ก็จะส่งผลต่อยอดขายของรถยนต์สันดาป และผู้ซื้อก็อาจจะพิจารณาในการกันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แทน
Industry rivalry
Industry rivalry คือ ปัจจัยกดดันจากการแข่งขันกันในอุตสาหกรรมเดียวกัน ยิ่งเป็นอุตสาหกรรมที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ยิ่งทำให้แรงกดดันต่อธุรกิจยิ่งสูง
การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมที่สูงจะส่งผลให้ผู้แข่งขันแต่ละรายพยามทำทุกวิถีทางเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้ธุรกิจต้องหาทางป้องกันส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่ธุรกิจต้องเผชิญ
Bargaining Power of Suppliers
Bargaining Power of Suppliers คือ ปัจจัยกดดันที่เกิดจากอำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์หรือผู้จัดหาวัตถุดิบ ยิ่งอำนาจต่อรองสูงไม่ว่าจากการที่ตัวเลือกของ Suppliers ที่มีอยู่น้อยหรือจากลูกค้าของ Suppliers มีอยู่มากเกินไป แรงกดดันต่อธุรกิจก็จะยิ่งสูงตาม
อำนาจต่อรองของ Suppliers ที่ยิ่งสูงจะทำให้วัตถุดิบที่ธุรกิจต้องซื้ออาจมีราคาสูงตาม หรือมีคุณภาพไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เพราะการที่อำนาจต่อรองสูงทำให้ Suppliers ไม่จำเป็นที่จะต้องสนใจความต้องการของลูกค้าอย่างธุรกิจมากนัก
Bargaining Power of Customers
Bargaining Power of Customers คือ ปัจจัยกดดันที่มาจากอำนาจต่อรองของลูกค้า ยิ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีลูกค้าอยู่จำกัด หรือมีคู่แข่งเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าเลือกเป็นจำนวนมาก ปัจจัยกดดันที่มาจากอำนาจต่อรองของลูกค้าจะยิ่งสูงตาม
อำนาจต่อรองของลูกค้าที่สูงจะยิ่งทำให้ธุรกิจสามารถตั้งราคาสินค้าได้ในราคาที่ต่ำ เนื่องจากลูกค้าจะหันไปซื้อสินค้าแบบเดียวกันที่ราคาต่ำกว่า โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมที่เป็นสินค้าประเภทที่มีความอ่อนไหวต่อราคา (Price Sensitivity) สูง
Threat of Substitute Products
Threat of Substitute Products คือ ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน ยิ่งเป็นธุรกิจประเภทที่มีสินค้าทดแทนอยู่เป็นจำนวนมาก หรือหาสินค้าทดแทนหาได้ง่าย ยิ่งได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามจากสินค้าทดแทนที่สูง
ในอุตสาหกรรมที่ภัยจากสินค้าทดแทนอยู่ในระดับสูง จะยิ่งทำให้ธุรกิจสามารถตั้งราคาได้ไม่สูงมากเนื่องจากลูกค้าจะหันไปใช้สินค้าทดแทนได้ง่าย โดยเฉพาะกับสินค้าประเภทที่มี Switching Costs ที่ต่ำที่สามารถเปลี่ยนได้ง่าย นอกจากนี้ความผิดพลาดบางอย่างของธุรกิจก็อาจนำไปสู่การย้ายไปใช้สินค้าทดแทนได้ง่ายเช่นกัน
Threat of New Entrance
Threat of New Entrance คือ ภัยคุกคามจากผู้แข่งขันหน้าใหม่ ยิ่งเป็นประเภทของธุรกิจที่สามารถเข้ามาเริ่มต้นได้ง่าย ยิ่งทำให้ภัยคุกคามจากผู้แข่งขันหน้าใหม่สูงตาม
ผลกระทบของภัยคุกคามจากผู้แข่งขันหน้าใหม่ที่สูงต่อธุรกิจ คือ การที่ให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมยิ่งสูงตาม และการที่มีธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากยังเป็นจุดเริ่มต้นของแรงกดดันอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น อำนาจต่อรองของลูกค้า อำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์ และสินค้าทดแทน