Acquisition คือ การเข้าซื้อกิจการ เป็นกลยุทธ์การเติบโต (Growth Strategy) ด้วยการที่บริษัทหนึ่งเข้าซื้ออีกบริษัทหนึ่งเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งการเข้าซื้อกิจการหรือ Acquisition เพื่อใช้ประโยชน์จากบริษัทที่เข้าซื้อหรือประหยัดเงินทุนในการเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าว
การ Acquisition ถือเป็นกลยุทธ์การเติบโต (Growth Strategy) ตามหลักการจัดการเชิงกลยุทธ์ในรูปแบบ Integrative Strategy ที่เป็นการเติบโตด้วยการขยายธุรกิจเข้าไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องผ่านการเข้าซื้อ เพื่อทำลายข้อจำกัดบางอย่างของธุรกิจเดิมที่บริษัทไม่สามารถทำได้
ประเภทของการเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ Asset Acquisition กับ Take Over (Friendly กับ Hostile Acquisitions)
Asset Acquisition คือการซื้อสินทรัพย์บางส่วน (ซื้อแค่ที่ต้องการ) ตัวอย่างเช่น บริษัท Apple ทำการซื้อฝ่ายวิจัยและพัฒนา GPU สำหรับมือถือจากบริษัท AMD
Take Over คือ การเข้าไปครอบครองกิจการอีกกิจการหนึ่ง ซึ่งการเข้าไปควบคุมจะแบ่งเป็น 2 กรณีคือ Friendly กับ Hostile Acquisition หรือพูดง่ายๆคือ การเข้าไปแบบเป็นมิตรและการเข้าไปแบบไม่เป็นมิตร
Friendly Acquisition คือการเข้าไปถือหุ้นของบริษัทที่ทำการ Acquisition โดยที่มีการตกลงกับบริษัทดังกล่าวและบริษัทดังกล่าวสมัครใจที่จะขายหุ้นให้
Hostile Acquisition คือการเข้าไปควบคุมอีกกิจการหนึ่งโดยที่บริษัทดังกล่าวไม่เต็มใจ ด้วยการซื้อหุ้นจนมีอำนาจออกเสียงมากกว่ารวมทั้งได้อำนาจในการจัดตั้งฝ่ายบริหาร (ถือหุ้นมากกว่า 50%)
ย้ำอีกทีว่า Acquisition คือการเข้าซื้อกิจการได้อำนาจในการเป็นเจ้าของ แต่ถ้าหากเพียงแค่รวมกิจการกันจะเรียกว่า Merger หรือ การควบรวมกิจการ
ทำไมถึง Acquisition
อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่าการ Acquisition คือกลยุทธ์เติบโต (Growth Strategy) เหตุผลของการ Acquisition ในส่วนใหญ่จึงเป็นเหตุการณ์ในลักษณะที่บริษัทขายดีผลิตไม่ทันจนต้องตั้งโรงงานเพิ่ม เพียงแต่การ Acquisition ไม่ได้ตั้งโรงงานใหม่ แต่เป็นการซื้อโรงงานในส่วนที่ต้องการมาแทน
สำหรับเหตุผลในการ Acquisition (จากตัวอย่างคือการซื้อโรงงาน) จะมีอยู่ 2 เหตุผล ได้แก่
- ซื้อคุ้มค่ากว่าลงทุนสร้างเอง
- ไม่มีความสามารถพอที่จะทำได้เอง (ไม่มี Know-how)
ตัวอย่างเช่น บริษัท Air Euro เป็นสายการบินที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ บริษัท Air Euro ใช้บริการการซ่อมบำรุงเครื่องบินจากบริษัท C (จ้างบริษัทภายนอกมาซ่อม) แต่การเติบโตของบริษัทฯ ทำให้มีเครื่องบินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
แน่นอนว่างานซ่อมบำรุงก็เพิ่มขึ้นตาม การจ้าง Outsourcing จึงไม่คุ้มค่าอีกต่อไปสำหรับงานในปริมาณที่มากขึ้นในปัจจุบัน แต่บริษัท Air Euro เองก็ไม่มีความสามารถเปิดแผนกซ่อมบำรุงขึ้นมาเองเช่นกัน
บริษัท Air Euro จึงเข้าซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัท C ที่เป็นบริษัทซ่อมบำรุงเครื่องบิน มาเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัท Air Euro
และนี่ก็คือการ Acquisition และเหตุผลของการ Acquisition
สำหรับกลยุทธ์การเติบโต (Growth Strategy) รูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากการ Acquisition อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ Growth Strategy คืออะไร?