GreedisGoods » Economics » Adverse Selection คืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร

Adverse Selection คืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร

by Kris Piroj
Adverse Selection คือ ความไม่สมมาตรของข้อมูล Asymmetric Information เศรษฐศาสตร์

Adverse Selection คืออะไร?

Adverse Selection คือ ปรากฏการณ์ที่ทำให้ในตลาดมีแต่สินค้าคุณภาพต่ำ ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ซื้อและผู้ขายมีข้อมูลไม่เท่ากันหรือความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) ทำให้ฝ่ายที่มีข้อมูลมากกว่าใช้ข้อมูลที่มีสร้างความได้เปรียบจากอีกฝ่ายก่อนการทำสัญญา

การสร้างความได้เปรียบในปรากฎการณ์ Adverse Selection จากความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) จะทำให้อีกฝ่ายเสียเปรียบในการทำธุรกรรมเสียเปรียบในการทำธุรกรรม (มักเกิดขึ้นในลักษณะของการปกปิดข้อมูล) ซึ่งนำไปสู่ความล้มเหลวของกลไกตลาด

โดยการใช้ข้อมูลที่มากกว่าที่เกิดจากความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) เรียกว่า Opportunism ซึ่งอาจจะเป็นฝั่งผู้ซื้อหรือผู้ขายก็ได้แล้วแต่กรณีแล้วแต่ตลาด

ซึ่งในบทความนี้เราจะใช้ตัวอย่างจากตลาดประกันภัยและตลาดรถยนต์มือ 2 จากงานวิจัยของ George A. Akerlof ในการอธิบาย Adverse Selection ที่เกิดขึ้น

Adverse Selection ในฝั่งผู้ซื้อ

Adverse Selection ที่เกิดในฝั่งผู้ซื้อที่ชัดเจนที่สุด คือ กรณีของธุรกิจประกันที่การตั้งราคาเบี้ยประกันจำเป็นต้องสูง เนื่องจากปัญหาของความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) ที่ฝ่ายผู้ขายมีข้อมูลน้อยกว่าฝ่ายผู้ซื้อ จนทำให้เกิด Adverse Selection

สมมติว่า บริษัทประกันสุขภาพมีลูกค้าอยู่ 3 กลุ่ม โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าตามความเสี่ยงด้านสุขภาพ ได้แก่ กลุ่มความเสี่ยงสูง กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง และกลุ่มความเสี่ยงต่ำ

ถ้าหากว่าไม่มีปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูล ซึ่งหมายความว่าในกรณีนั้นประกันจะรู้ว่าลูกค้าแต่ละคนอยู่ในกลุ่มไหน ประกันก็อาจจะเรียกเก็บเบี้ยประกันของลูกค้าแต่ละกลุ่มด้วยราคาที่ต่างกันตามความเสี่ยงได้ โดยเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันสุขภาพต่อปี ดังนี้

  • กลุ่มความเสี่ยงสูง เบี้ยประกันสุขภาพ 20,000 บาท
  • กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง เบี้ยประกันสุขภาพ 15,000 บาท
  • กลุ่มความเสี่ยงต่ำ เบี้ยประกันสุขภาพ 10,000 บาท

แต่ในความเป็นจริงมีปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลที่ทำให้ประกันไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วลูกค้าแต่ละคนมีความเสี่ยงอยู่ในระดับใด ทำให้บริษัทประกันต้องตั้งราคาเบี้ยประกันออกมาแบบเฉลี่ย สมมติว่า 15,000 บาท

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อฝั่งผู้ซื้อมีข้อมูลมากกว่าจากปรากฎการณ์ Adverse Selection จะทำให้ผู้ซื้อกลุ่มความเสี่ยงต่ำไม่อยากซื้อประกันในราคา 15,000 บาท เนื่องจากมองว่าแพงเกินไปเมื่อพิจารณาจากเบี้ยประกันที่จ่ายออกไปเทียบกับค่ารักษาพยาบาลที่คาดว่าจะได้ใช้ ทำให้บริษัทเสียลูกค้าในกลุ่มความเสี่ยงต่ำ

ในขณะที่กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง เมื่อพิจารณาแล้วอยู่ในระดับที่รับได้หรือเสมอตัวทำให้มีประกันสุขภาพไว้ดีกว่าไม่มี และกลุ่มความเสี่ยงสูงที่เข้ารับการรักษาบ่อยพบว่า 15,000 บาท เป็นเงินจำนวนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่ารักษาพยาบาลที่กลุ่มนี้อยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว

เมื่อบริษัทเหลือลูกค้าเพียง 2 กลุ่ม หรือพบว่ายอดเคลมประกันเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่เหลือกลุ่มความเสี่ยงต่ำมาหารอีกต่อไป นั่นหมายความว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งบริษัทประกันจำเป็นที่จะต้องขึ้นราคาเบี้ยประกันจนถึงจุดที่กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงปานกลางรับไม่ได้

และในท้ายที่สุดบริษัทประกันเหลือเพียงกลุ่มลูกค้าเสี่ยงสูงที่ทำให้ยอดเคลมประกันมีสัดส่วนสูงขึ้นอีก จนทำให้กลไกตลาดประกันสุขภาพล้มเหลวในที่สุด

จะเห็นว่าปัจจุบันประกันสุขภาพแก้ปัญหานี้ด้วยการตรวจสุขภาพเพื่อเก็บข้อมูลลูกค้าให้ได้มากที่สุดว่าลูกค้าอยู่ในกลุ่มใด

Adverse Selection ในฝั่งผู้ขาย

Adverse Selection ในกรณีที่ผู้ขายมีข้อมูลมากกว่าผู้ซื้อ คือ ในกรณีของตลาดรถยนต์มือ 2 ที่ความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) ทำให้ผู้รับซื้อรถยนต์มือ 2 ไม่มีข้อมูลว่ารถยนต์ดังกล่าวมีคุณภาพระดับใด จึงทำให้เลือกใช้ราคารับซื้อเป็นราคาตรงกลางระหว่างรถยนต์สภาพดีกับรถยนต์สภาพแย่

ทำให้เจ้าของรถยนต์สภาพดีไม่อยากนำรถยนต์มาขาย เพราะราคาตรงกลางที่ว่าต่ำกว่าราคารถยนต์สภาพดี ในขณะที่เจ้าของรถยนต์สภาพแย่ต้องการนำรถยนต์มาขาย เพราะราคาตรงกลางที่ว่าสูงกว่าราคารถยนต์แย่

เมื่อเจ้าของรถยนต์สภาพดีไม่อยากขาย แต่เจ้าของรถยนต์สภาพแย่อยากขาย ท้ายที่สุดรถยนต์ในตลาดรถยนต์มือ 2 จึงมีแต่รถยนต์สภาพแย่ จนทำให้กลไกตลาดรถยนต์มือ 2 ล้มเหลวในที่สุด จะเห็นว่าปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในตลาดรถมือ 2 ก็จะพยายามการันตีคุณภาพของรถยนต์มือ 2 ด้วยการหาวิธีหรือเงื่อนไขต่าง ๆ มารับรองคุณภาพของรถยนต์มือ 2 ที่ขายว่าอยู่ในระดับใด เพื่อช่วยตีราคาได้อย่างเหมาะสม

ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก: Equilibrium in Competitive Insurance Markets: An Essay on the Economics of Imperfect Information, The market for “lemons”: Quality uncertainty and the market mechanism

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด