GreedisGoods » Business » Ansoff Matrix คืออะไร? (Product Market Matrix)

Ansoff Matrix คืออะไร? (Product Market Matrix)

by Kris Piroj
Ansoff Matrix คือ อะไร Market Product Matrix Grid Igor Ansoff กลยุทธ์

Ansoff Matrix คืออะไร?

Ansoff Matrix คือ เครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อเลือกกลยุทธ์การเติบโตในกับธุรกิจเมื่อองค์กรนั้นจะใช้กลยุทธ์เติบโต (Growth Strategy) โดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัยในแต่ละแกนของกราฟคือตลาดเป้าหมายในแกนตั้งและผลิตภัณฑ์ในแกนนอน ซึ่งตัดกันและกลายเป็น 4 กลยุทธ์ของ Ansoff Matrix ได้แก่ Market Penetration, Market Development, Product Development, และ Diversification

โดยในแต่กลยุทธ์การเติบโตของ Ansoff Matrix จะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันและให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกัน ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์เกี่ยวกับตลาดเป้าหมายและตัวผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่หรือผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ เพื่อเลือกกลยุทธ์เติบโตที่เหมาะสมและให้ผลตอบแทนสูงสุดต่อความเสี่ยง

กลยุทธ์การเติบโตทั้ง 4 กลยุทธ์ของ Ansoff Matrix มีดังนี้

  1. Market Penetration กลยุทธ์การเจาะตลาดเดิมด้วยผลิตภัณฑ์เดิม
  2. Market Development กลยุทธ์การใช้ผลิตภัณฑ์เดิม ในการหาตลาดใหม่
  3. Product Development กลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อขายในตลาดเดิม
  4. Diversification กลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อขายในตลาดใหม่
ตาราง Ansoff Matrix คือ Product Market Matrix ตัวอย่าง
Ansoff Matrix หรือที่รู้จักกันในชื่อ Product Market Matrix

Ansoff Matrix คิดค้นโดย Igor Ansoff ในปี 1957 และถูกตีพิมพ์ลงใน Business Harvard Review ในปีเดียวกัน โดย Ansoff Matrix ยังรู้จักกันในชื่อ Product Market Matrix

Market Penetration

Market Penetration คือ กลยุทธ์เจาะตลาดหรือการเพิ่มยอดขายของผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ในตลาดเดิมด้วยวิธีทางการตลาด โดยการเติบโตในตลาดเดิมด้วยสินค้าเดิม ด้วยกลยุทธ์การเติบโตแบบ Market Penetration อาจทำได้ดังนี้

  • เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ด้วยการทำโปรโมชั่น การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย และการปรับปรุงสินค้าเล็กน้อย
  • เพิ่มความถี่ในการใช้สินค้าของลูกค้า ด้วยการกระตุ้นลูกค้าด้วยทำให้ลูกค้ารับรู้ว่าสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้บ่อยกว่าที่ลูกค้ารับรู้ เช่นการโฆษณาให้ลูกค้ารับรู้ว่าควรแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหารเพื่อเพิ่มจำนวนครั้งในการใช้ยาสีฟัน
  • เพิ่มความถี่ในการซื้อสินค้า ด้วยการทำให้ลูกค้าซื้อสินค้าบ่อยขึ้น หรือซื้อสินค้าครั้งละเป็นจำนวนมากขึ้น
  • การหาลูกค้ากลุ่มใหม่ในตลาดเดิม ซึ่งธุรกิจไม่เคยขายสินค้าให้กับลูกค้ากลุ่มดังกล่าวมาก่อน
  • การเข้าซื้อบริษัทคู่แข่งที่อยู่ในตลาดเดียวกัน เพื่อกำจัดคู่แข่ง ลดต้นทุนในการแข่งขันระยะยาว

กลยุทธ์การเติบโตด้วยวิธี Market Penetration เป็นกลยุทธ์ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดจากทั้ง 4 กลยุทธ์ของ Ansoff Matrix จากการที่ไม่มีความเสี่ยงทั้งจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่และความเสี่ยงในการเข้าสู่ตลาดใหม่

อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ Market Penetration ไม่สามารถใช้ได้กับธุรกิจ เนื่องจากมีข้อจำกัดของขนาดตลาดที่ไม่สามารถขยายไปได้มากกว่านี้ หรือข้อจำกัดด้านการแข่งขันที่ทำให้การขยายตลาดด้วย Market Penetration อาจไม่คุ้มค่า


Market Development

Market Development คือ กลยุทธ์การเติบโตด้วยการหาตลาดใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ เป็นกลยุทธ์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาจากกลยุทธ์ Market Penetration จากการที่ต้องเข้าสู่ตลาดใหม่ แต่ก็ยังมีข้อได้เปรียบที่ไม่ต้องพัฒนาสินค้าขึ้นมาใหม่ (เหมือนกับการใช้กลยุทธ์ Diversification)

ตัวอย่างของกลยุทธ์ Market Development ได้แก่

  • การส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ โดยอาจจะทำการส่งออกเอง 100% หรือผ่านตัวแทนจัดจำหน่ายในต่างประเทศก็ได้
  • การขยายกลุ่มลูกค้า เช่น การขายให้กับธุรกิจด้วยกันในลักษณะ B2B จากเดิมที่ขายให้กับผู้บริโภครายย่อยมาโดยตลอดแบบ B2C (รวมถึงในกรณีกลับกัน)
  • การหาประโยชน์ใหม่ของผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง

Product Development

Product Development คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาแต่ยังคงขายอยู่ในตลาดเดิม ซึ่งสินค้าใหม่นั้นอาจจะนำมาใช้แทนที่สินค้าเดิมหรือขายควบคู่กันไปก็ได้ กลยุทธ์การเติบโตแบบ Product Development มีข้อได้เปรียบจากการที่ธุรกิจเป็นที่รู้จักอยู่แล้วในตลาดเดิมรวมถึงมีกลุ่มลูกค้าอยู่แล้ว ทำให้ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ออกมาตรงความต้องการก็จะง่ายต่อการยอมรับในตัวผลิตภัณฑ์ของลูกค้า

ตัวอย่างเช่น มันฝรั่งทอดกรอบแผ่นเรียบยี่ห้อหนึ่ง พัฒนาสินค้าใหม่ขึ้นมาคือมันฝรั่งทอดกรอบแผ่นหยัก ในท้ายที่สุดบริษัทอาจขายแผ่นหยักแทนแผ่นเรียบไปเลยก็ได้เมื่อยอดขายในระยะยาวออกมาพบว่าลูกค้าชอบมันฝรั่งทอดกรอบแผ่นหยักมากกว่าแผ่นเรียบ


Diversification

Diversification คือ กลยุทธ์การเติบโตด้วยการพัฒนาสินค้าใหม่ขึ้นมาเพื่อขยายเข้าไปยังตลาดเป้าหมายใหม่ โดยผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมาอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เดิมที่ธุรกิจมีอยู่ก็ได้ นอกจากนี้ การเข้าซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการของธุรกิจที่อยู่ในตลาดใหม่ที่ต้องการจะขยายเข้าไปก็นับว่าเป็นการ Diversification เช่นกัน

การขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจเดิม เช่น บริษัทผลิตน้ำผลไม้ขยายไปทำห้างสรรพสินค้า เรียกว่า Conglomerate Diversification

การขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่ในตลาดใหม่ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับธุรกิจเดิม เช่น บริษัทน้ำผลไม้ ขยายไปทำน้ำผัก ชาเขียว ผลไม้กระป๋อง เรียกว่า Concentric Diversification

กลยุทธ์ Diversification ถือเป็นกลยุทธ์ที่ยากและมีความเสี่ยงสูงสุดจากทั้ง 4 กลยุทธ์ของ Ansoff Matrix เนื่องจากมีความเสี่ยงจากทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีโอกาสจะไม่ตรงความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหม่ในตลาดใหม่ ทำให้นอกจากจะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างดีแล้ว ธุรกิจยังต้องวิจัยตลาดอย่างละเอียดด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด