ผู้ตรวจสอบบัญชี คือใคร?
ผู้ตรวจสอบบัญชี คือ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (Certificated Public Accountant) เป็นผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชี (Audit) และรายงานทางการเงินของบริษัท เพื่อรับรองความถูกต้องของบัญชีว่ามีความถูกต้องน่าเชื่อถือและเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
โดยทั่วไปในการตรวจสอบบัญชีแล้วผู้ตรวจสอบบัญชีจะตรวจสอบเอกสารทางการเงิน อย่างเช่น งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด รวมถึงเอกสารประกอบ อย่างเช่น ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน และสัญญา ตลอดจนการตรวจสอบการควบคุมภายใน นโยบาย และระเบียบปฏิบัติขององค์กร เพื่อประเมินความเพียงพอและระบบรายงานทางการเงินของบริษัท
การตรวจสอบบัญชี (Auditing) ของผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor) จะแสดงให้เห็นว่าว่างบการเงินที่จัดทำขึ้นถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีหรือไม่ นโยบายทางบัญชีที่บริษัทเลือกใช้มีความสมเหตุสมผลหรือไม่ มีการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเพียงพอหรือไม่ และความเห็นของผู้สอบบัญชีต่อรายงานทางการเงินที่ได้ตรวจสอบ
เนื่องจาก ในประเทศไทยกฎหมายได้กำหนดให้กิจการที่เป็นนิติบุคคลต้องแต่งตั้งบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีที่เป็นอิสระจากกิจการ เพื่อตรวจสอบงบการเงินและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชี ก่อนนำส่งงบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว
ทั้งนี้ ผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor) ที่มีสิทธิ์ตรวจสอบบัญชี (Auditing) จะต้องเป็น ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (Certificated Public Accountant) ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิในระดับปริญญาตรีทางด้านการบัญชีหรือเทียบเท่าที่ผ่านเงื่อนไขและการรับรองจากสภาวิชาชีพบัญชี และมีใบอนุญาต (CPA) จากสภาวิชาชีพบัญชี
กล่าวคือ ผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor) คือบุคคลภายนอกที่นิติบุคคลจำเป็นต้องแต่งตั้งขั้นมาตรวจสอบบัญชีตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของรายงานทางการเงินของบริษัทตลอดจนเรื่องเกี่ยวกับกับภาษี แสดงความเห็นของผู้สอบบัญชี และรายงานข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบบัญชีให้กับผู้บริหารทราบก่อนนำไปใช้
ความเห็นของผู้สอบบัญชี
นอกจากนี้ ในการตรวจสอบบัญชี (Auditing) ผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor) จะแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชีต่องบการเงินที่ผู้สอบบัญชีได้ทำการตรวจสอบ ซึ่งเป็นความเห็นของผู้สอบบัญชีต่อความถูกต้องของงบการเงินของบริษัท โดยแบ่งเป็นความเห็นของผู้สอบบัญชี 4 ประเภท ดังนี้
- ความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข (Unqualified Opinion) คือ งบการเงินที่ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็นตามหลักบัญชีที่ได้รับการรับรอง
- ความเห็นแบบมีเงื่อนไข (Qualified Opinion) คือ ผู้สอบบัญชีพบความไม่ถูกต้องหรือความไม่แน่นอนบางอย่างจากงบการเงิน
- ไม่แสดงความเห็น (Disclaimer of Opinion) คือ ผู้สอบบัญชีไม่สามารถแสดงความเห็นได้ว่างบการเงินถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบบางอย่างที่ไม่สามารถตรวจสอบได้หรือตรวจสอบได้ลำบาก
- งบการเงินไม่ถูกต้อง (Adverse Opinion) คือ การที่ผู้จัดทำบัญชีทำงบการเงินไม่ถูกต้องและไม่ได้รับการแก้ไขข้อมูลจากผู้ที่จัดทำบัญชี
ประเภทของผู้ตรวจสอบบัญชี
แม้ว่า ผู้ตรวจสอบบัญชี ในภาพรวมจะถูกเรียกว่า Auditor แต่ผู้สอบบัญชียังสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ที่มีขอบเขตของการตรวจสอบบัญชีที่สามารถทำได้ต่างกัน ได้แก่
ผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก (External Auditor) หรือ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั่วไป (CPA) คือ ผู้ตรวจสอบบัญชีที่ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของนิติบุคคลทุกประเภท และแสดงความเห็นของผู้ตรวจสอบบัญชีเอาไว้ในรายงานการสอบบัญชี ตามที่ได้อธิบายในตอนต้น
ผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากร (Tax Auditor : TA) คือ ผู้ตรวจสอบบัญชีที่ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากรจากอธิบดีกรมสรรพากร ผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากร (TA) สามารถตรวจสอบบัญชีและรับรองงบการเงินเฉพาะห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนหรือทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวมและรายได้รวมของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท
ผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Auditor) คือ บุคคลที่แต่งตั้งจากบุคคลภายในหรือภายนอก ทำหน้าที่ตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพระบบการควบคุมภายในขององค์กรอย่างเป็นอิสระ เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานขององค์กร โดยไม่เกี่ยวกับรายงานทางการเงิน
ผู้สอบบัญชีตลาดทุน (List of auditors approved by the office of SEC) คือ ผู้สอบบัญชีสำหรับ บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทที่กำลังยื่น IPO, และกองทุน
ทั้งนี้ นอกจากสภาวิชาชีพบัญชีจะเป็นผู้ที่ควบคุมดูแลผู้ตรวจสอบบัญชีในด้านการควบคุมมาตรฐานการดำเนินงานของผู้สอบบัญชี ยังมีอีก 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor) คือ กรมสรรพากร (ควบคุมในส่วนที่เกี่ยวกับภาษี) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ควบคุมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน)