Average Inventory Period คืออะไร?
Average Inventory Period คือ ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่จะแสดงระยะเวลาเฉลี่ยที่กิจการจะต้องเก็บสินค้าไว้จนกว่าจะขายได้ หรือเวลาเฉลี่ยที่กิจการใช้ในการขาย 1 ครั้ง
โดยระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ยหรือ Average Inventory Period มาจากการนำ 365 (จำนวนวันใน 1 ปี หรือ 1 รอบระยะเวลาบัญชี) หารด้วยตัวเลขที่ได้จากอัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover Ratio) ซึ่งค่าที่ได้จะแสดงให้เห็นว่า กิจการใช้ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ยครั้งละกี่วัน
ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Average Inventory Period) = 365 ÷ อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ
โดยระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Average Inventory Period) ที่ดีควรมีค่าต่ำ ซึ่งจะแสดงถึงการที่กิจการสามารถขายสินค้าได้เร็ว ทำให้ไม่ต้องเก็บสินค้าคงเหลือ (Inventory) ไว้นานเกินไป
ในทางกลับกันระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Average Inventory Period) ที่สูง หมายถึง การที่กิจการขายสินค้าออกไปได้ช้า ส่งผลให้ต้องเก็บสินค้าคงเหลือไว้ นำไปสู่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง (Inventory) ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนในการรักษาสินค้า พื้นที่ใช้ในการเก็บรักษา และความเสี่ยงของสินค้าตกรุ่น (Obsoleted Inventory)
ตัวอย่าง ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Average Inventory Period)
บริษัท AIP มีอัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover Ratio) 4 เท่า โดยค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมเดียวกันที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ มีระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Average Inventory Period) อยู่ที่ 19 วัน
ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Average Inventory Period) = 365 ÷ 4
ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Average Inventory Period) ของบริษัท AIP = 91.25 วัน
หมายความว่า บริษัท AIP สามารถขายสินค้าออกไปได้ช้ากว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันเกือบ 5 เท่า เพราะใช้เวลาถึง 91.25 วันต่อการขายสินค้า 1 ครั้ง
อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover Ratio) มาจากไหน?
อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover Ratio) คำนวณมาจากการหารต้นทุนขายด้วยสินค้าคงเหลือเฉลี่ย ซึ่งสามารถเขียนเป็นสมการได้ ดังนี้
Inventory Turnover Ratio = ต้นทุนขาย ÷ สินค้าคงเหลือเฉลี่ย
โดยที่ “สินค้าคงเหลือเฉลี่ย” จะคำนวณได้จาก (สินค้าคงเหลือต้นงวด + สินค้าคงเหลือปลายงวด) ÷ 2