เงินบาทแข็งค่า คืออะไร?
เงินบาทแข็งค่า คือ สถานการณ์ที่เงินบาทจำนวนเท่าเดิมมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง ส่งผลให้เงินบาทจำนวนเท่ากันที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่งในปัจจุบันสามารถแลกเป็นอีกสกุลหนึ่งได้ในจำนวนที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต
ตัวอย่างเช่น เมื่อวานวันที่ 1 มกราคมเงิน 1 บาทแลกเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ 0.0294 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่วันนี้เงิน 1 บาทแลกเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ 0.0303 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ)
จากตัวอย่างจะเห็นว่าปัจจุบันเงินบาทแข็งค่า เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และในมุมมองกลับกันก็คือการที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาทของไทยเช่นกัน ซึ่งทำให้ต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มากขึ้นในการแลกเงินบาทจำนวนเท่าเดิม
จะเห็นว่า ค่าเงินบาทแข็งค่า เป็นสิ่งที่สามารถเทียบได้กับการที่สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบสกุลเงินเป็นสินค้าชนิดหนึ่งและมองอัตราแลกเปลี่ยนเป็นราคาของสินค้า การที่ต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มากขึ้นพื่อแลกเงินบาทเท่าเดิมนั่นก็คือการที่เงินบาทแพงขึ้น (เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ)

กล่าวคือ เงินบาทแข็งค่า เป็นสิ่งที่เกิดจากการเปรียบเทียบเงินบาทกับเงินอีกสกุลหนึ่งใน 2 ช่วงเวลา (อดีตและปัจจุบัน) แล้วพบว่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่งแล้วพบว่าเงินบาทในปัจจุบันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น (แลกเงินอีกสกุลได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต)
เงินบาทแข็งค่าเกิดจากอะไร
เงินบาทแข็งค่า หรือการที่เงินแข็งค่า (Currency Appreciation) ในสกุลเงินใดก็ตาม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่เงินสกุลนั้นเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยมีความต้องการต้องการแลกเงินเป็นเงินสกุลบาทมากกว่าความต้องการแลกเงินบาทเป็นเงินสกุลอื่นด้วยเหตุผลบางอย่าง ตามกลไกอุปสงค์ อุปทาน (Demand & Supply) เหมือนกับสินค้าอะไรก็ตาม
โดยทั่วไปสาเหตุที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าคือความต้องการแลกเงินเป็นเงินบาทของไทยด้วยเหตุผล ดังนี้:
- เงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย (Fund Flow) เพราะการจะเข้าไปลงทุนในประเทศใด ต้องแลกเงินเป็นเงินสกุลของประเทศนั้นก่อน
- ประเทศเกิดดุลบัญชีเดินสะพัด เมื่อต่างชาติซื้อสินค้าหรือบริการจากไทยเงินที่ได้ก็จะเป็นเงินสกุลต่างประเทศ ทำให้ผู้ส่งออกต้องแลกเงินสกุลต่างประเทศกลับเป็นเงินบาทเพื่อใช้ในประเทศไทยต่อไป
- ความเชื่อมั่นในสกุลเงินดังกล่าว ทำให้นักลงทุนนำเงินสดที่ถือไว้แลกเป็นเงินสกุลดังกล่าวเป็น Safe Haven เพื่อรอนำไปลงทุน
- การแทรกแซงค่าเงินของธนาคารกลาง เพื่อทำให้ค่าเงินอยู่ในระดับที่ธนาคารกลางต้องการ
- การที่เงินอีกสกุลเงินหนึ่งอ่อนค่าลง ทำให้เงินอีกสกุลแข็งค่าขึ้นไปโดยปริยาย
เงินบาทแข็งค่า ใครได้ประโยชน์
ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งค่า คือ ใครก็ตามที่ต้องการเปลี่ยนเงินบาทไปเป็นเงินอีกสกุลหนึ่ง ได้แก่ ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ นักลงทุนที่นำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ และผู้ที่มีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายในต่างประเทศ
เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าผู้นำเข้าวสินค้าจากต่างประเทศ (Importer) จะสามารถซื้อสินค้าด้วยเงินเท่าเดิมได้ในประมาณที่มากขึ้น เช่นเดียวกันกับนักลงทุนจากประเทศไทยที่สามารถใช้เงินจำนวนเท่าเดิมแล้วสามารถซื้อในสินทรัพย์ในต่างประเทศได้มากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ฿34 ต่อ $1 บริษัทนำเข้าทองคำจากต่างประเทศต้องใช้เงิน 340,000 เพื่อนำเข้าทองคำมูลค่า $10,000 แต่เมื่อเงินบาทแข็งค่าเป็น ฿33 ต่อ $1 บริษัทจะสามารถนำเข้าทองคำมูลค่า $10,000 บาท ได้โดยที่ใช้เงินเพียง 330,000 บาท เสมือนได้ส่วนลด 1 หมื่นบาทจากอัตราแลกเปลี่ยน
เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผู้ที่มีหนี้สินในต่างประเทศครบกำหนดจ่ายหนี้ จะส่งผลให้ผู้ที่เป็นหนี้ใช้เงินบาทจำนวนน้อยลงในการแลกเป็นเงินสกุลต่างประเทศเพื่อจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้
ตัวอย่างเช่น สายการบินในประเทศไทยกู้เงินจากสหรัฐฯ $10,000 โดย ณ วันที่กู้อัตราแลกเปลี่ยนคือ ฿34 ต่อ $1 ทำให้ได้เงินมาใช้ 340,000 บาท แต่วันครบกำหนดชำระหนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็น ฿33 ต่อ $1 นั่นหมายความว่าสายการบินสามารถจ่ายหนี้ $10,000 ด้วยเงินเพียง 330,000 บาทเท่านั้น (จ่ายน้อยลง 1 หมื่นบาทไม่รวมดอกเบี้ย)
เงินบาทแข็งค่า ใครเสียประโยชน์
ผู้ที่เสียประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งค่า คือ ผู้ที่ต้องแลกเงินสกุลอื่นอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินบาท โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดคือผู้ส่งออกสินค้า (Exporter) จากไทยสู่ต่างประเทศ จากการที่แลกเงินจากการขายสินค้ากลับมาได้น้อยลง และการที่สินค้าส่งออกถูกมองว่าแพงขึ้นจากผู้นำเข้าสินค้าในต่างประเทศ
ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยส่งออกซอสพริกไปขายที่สหรัฐอเมริกาโดยซอสราคาขวดละ 34 บาท ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ ฿34 ต่อ $1 หมายความว่า ผู้นำเข้าจะใช้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซื้อซอสพริกได้ 1 ขวดพอดี เมื่อเงินบาทแข็งค่าเป็น ฿33 ต่อ $1 หมายความว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะไม่สามารถซื้อซอสพริกจากไทยได้อีกแล้ว เพราะ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าแค่ 33 บาท แต่ซอสพริกราคา 34 บาท
การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าจึงทำให้ซอสพริกแพงขึ้น 1 บาทโดยไม่ได้ขึ้นราคา ทางออกของผู้นำเข้าจากสหรัฐฯ ก็อาจจะเลือกนำเข้าซอสพริกจากประเทศอื่นที่ราคาเท่าเดิมหรือถูกกว่า หรือยังคงนำเข้าจากไทยต่อไปแต่ก็ต้องตั้งราคาที่แพงขึ้นเนื่องจากต้นทุนการนำเข้าซอสพริกจากไทยเพิ่มขึ้นเพราะอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ หันไปซื้อซอสพริกแบรนด์อื่นแทน
นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ส่งออกขายสินค้าเป็นเงินสกุลต่างประเทศ เช่นส่งออกซอสพริกไปสหรัฐฯ ราคาขวดละ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าขายได้ 10,000 ขวดบริษัทจะได้เงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากตัวอย่างอัตราแลกเปลี่ยนเดิมเมื่อเงินบาทแข็งค่าเป็น ฿33 ต่อ $1 เมื่อผู้ส่งออกต้องการแลกเป็นเงินบาทจะแลกเงินกลับมาได้เพียง 330,000 บาท จากเดิมที่แลกได้ 340,000 บาท (ได้เงินลดลงขวดละ 1 บาท)
วิธีรับมือเงินบาทแข็งค่า
การรับมือกับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ส่งออกสามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการที่เงินบาทแข็งค่าได้ในเบื้องต้นตั้งแต่ก่อนอัตราแลกเปลี่ยนจะเกิดความผันผวน
โดยเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจะทำหน้าที่เป็นเหมือนประกัน ถ้าหากว่าอัตราแลกเปลี่ยนเกิดความผันผวนจนเงินบาทแข็งค่า เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเหล่านี้ก็จะช่วยชดเชยความเสียหายจากอัตราแลกเปลี่ยน (เหมือนกับการทำประกัน) สำหรับเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีอยู่หลายวิธี ตัวอย่างเช่น:
ซึ่งการเลือกใช้เครื่องมือเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการวางแผนและความรู้ของผู้ส่งออกในแต่ละเครื่องมือการเงิน ตลอดจนการคาดการณ์ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน