เงินบาทอ่อนค่า คืออะไร?
เงินบาทอ่อนค่า คือ สถานการณ์ที่เงินบาทจำนวนเท่าเดิมแลกเงินอีกสกุลหนึ่งได้ลดลง เนื่องจากมูลค่าของเงินบาทลดลงเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง และในทางกลับกันเมื่อเงินบาทอ่อนค่าจะส่งผลให้เงินสกุลต่างประเทศสกุลดังกล่าวจำนวนเท่าเดิมแลกเงินบาทได้มากขึ้น
เงินบาทอ่อนค่าสามารถเทียบได้กับการที่สินค้ามีมูลค่าลดลง เมื่อเปรียบเทียบสกุลเงินบาทเป็นสินค้าและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นราคาของสินค้า โดยการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงทำให้การแลกเงินบาท (ที่เปรียบเสมือนการซื้อสินค้า) สามารถทำได้ด้วยการใช้เงินอีกสกุลในปริมาณที่น้อยลงในการแลก
ตัวอย่างเช่น วันที่ 10 มกราคาคมเงิน 1 บาทแลกได้ 0.0323 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือ 31 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่เมื่อเวลาผ่านไปในวันที่ 20 มกราคมเงิน 1 บาทสามารถแลกเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้เพียง 0.0312 (หรือ 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) จากตัวอย่าง การที่เงินบาทจำนวนเท่าเดิมแลกเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ได้น้อยลงในตัวอย่างของเหตุการณ์ที่เงินบาทอ่อนค่า
กล่าวคือ การที่เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่งจะทำให้เงินบาทมีมูลค่าที่ลดลง จึงเป็นเหตุให้เงินบาทจำนวนเท่าเดิมแลกเงินอีกสกุลหนึ่งได้น้อยลง

นอกจากนี้ การที่เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลใดสกุลหนึ่ง นั่นหมายความว่าในทางกลับกันเงินอีกสกุลหนึ่งก็แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาทด้วยเช่นกัน
เงินบาทอ่อนค่ามีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง
เงินบาทอ่อนค่า เกิดจากการที่มูลค่าของเงินบาทเสื่อมค่าลงหรือมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่งที่นำมาเปรียบเทียบมูลค่า ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณความต้องการเงินบาทลดลงด้วยเหตุผลบางประการ ที่เมื่อความต้องการขายเงินบาทมากกว่าความต้องการซื้อเงินบาทก็จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตามกลไกอุปสงค์ อุปทาน (Demand & Supply) เหมือนกันกับสินค้าทั่วไป
โดยทั่วไปสาเหตุที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า (และเงินสกุลอะไรก็ตามอ่อนค่าลง) คือความต้องการขายเงินบาท (แลกเงินบาทเป็นเงินสกุลอื่น) ที่มักจะมีสาเหตุมาจากประเด็นต่อไปนี้:
- ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จากการที่ประเทศไทยมีเงินออกมากกว่าเงินเข้าประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการแลกเงินบาทเป็นเงินสกุลต่างประเทศมากกว่า ซึ่งมีสาเหตุมาจากทั้งในส่วนของดุลการค้าและดุลบริการ
- นักลงทุนย้ายเงินออกจากประเทศเพื่อลงทุนในประเทศอื่นที่ผลตอบแทนมากกว่า ซึ่งนักลงทุนจะแลกเงินบาทที่เคยแลกไว้เพื่อเข้ามาลงทุนกลับไปเป็นเงินสกุลที่ต้องการ เพื่อย้ายเงินลงทุนไปยังประเทศอื่น
- การแทรกแซงค่าเงินของธนาคารกลาง เพื่อทำให้ค่าเงินไม่แข็งค่าเกินไปและอยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วยมาตรการต่าง ๆ
- การที่เงินอีกสกุลเงินแข็งค่าขึ้นมาก จนทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปโดยปริยาย
จากสาเหตุทั้งหมดที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าจะเห็นว่าทุกสาเหตุล้วนเป็นด้านตรงข้ามของการที่เงินบาทแข็งค่านั่นเอง
เงินบาทอ่อนค่า ใครได้ประโยชน์
ผู้ที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า คือ ผู้ที่ต้องแลกเงินสกุลต่างชาติกลับมาเป็นเงินบาทซึ่งจะทำให้ได้รับเงินบาทมากขึ้น ได้แก่ ผู้ส่งออก ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินสกุลต่างประเทศ ธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ และนักลงทุนที่นำเงินลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศและนำผลกำไรกลับเข้าประเทศไทย
ทั้งนี้ ประโยชน์จากการที่เงินบาทอ่อนค่าที่ผู้ส่งออก (Exporter) ได้รับแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การส่งออกสินค้าให้ต่างประเทศแล้วได้เงินสกุลต่างประเทศกลับมาจะได้รับกำไรที่มากขึ้น (เรียกว่ากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน) ตัวอย่างเช่น ได้เงิน $10,000 ถ้าแลกกลับมาตอนที่ $1 = 35 บาทจะได้เงิน 350,000 บาท แต่ถ้าหากเงินบาทอ่อนค่าเป็น $1 = 36 บาท การแลกเงินจะทำให้ผู้ส่งออกได้เงินกลับมา $360,000 (ได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 10,000 บาท)
และอีกประโยชน์จากการที่เงินบาทอ่อนค่าที่ผู้ส่งออกจะได้รับ คือ ประโยชน์จากการแข่งขันด้านราคาจากการที่เงินบาทอ่อนค่า เนื่องจากในมุมมองของผู้นำเข้า (Importer) จากต่างประเทศสินค้าที่ขายเป็นสกุลบาทจะมีราคาต่ำลง เนื่องจากเงินของผู้นำเข้าจำนวนเท่าเดิมสามารถซื้อสินค้าได้มากขึ้น
ตัวอย่างเช่น บริษัทจากสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าซอสจากไทย 1 ขวดราคา 30 บาท ถ้าอัตราแลกเปลี่ยน $1 ต่อ 30 บาท การนำเข้า 100 ขวดจะใช้เงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อเงินบาทอ่อนค่าเหลือ $1 ต่อ 32 บาท การนำเข้าซอส 100 ขวดจะใช้เงินเพียง 93.75 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
เงินบาทอ่อนค่า ใครเสียประโยชน์
ผู้ที่เสียประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า คือ ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนเงินบาทเป็นเงินสกุลต่างชาติ เนื่องจาก ผู้ที่ต้องแลกเงินบาทเป็นเงินต่างประเทศจะใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเงินจำนวนเท่าเดิม
โดยทั่วไปผู้ที่เสียประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า ได้แก่ ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และผู้ที่มีหนี้สินเป็นเงินสกุลอื่นที่จะต้องชำระเงินในช่วงที่เงินบาทกำลังอ่อนค่าอยู่
การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงลูกหนี้ที่มีหนี้สินเป็นเงินต่างประเทศจะต้องใช้เงินบาทมากกว่าเมื่อครั้งที่กู้มาแลกเป็นเงินสกุลที่ต้องชำระหนี้ ตัวอย่างเช่น กู้เงิน $1,000 มาด้วยอัตราแลกเปลี่ยน $1 ต่อ ฿30 ซึ่งจะทำให้ได้เงินมาใช้ 30,000 บาท แต่เมื่อถึงเวลาชำระหนี้อัตราแลกเปลี่ยนกลายเป็น $1 ต่อ ฿32 หมายความว่าจะต้องใช้เงินถึง 32,000 บาทเพื่อแลกคืนเป็น $1,000 บาท สำหรับจ่ายหนี้ในขณะที่เงินบาทกำลังอ่อนค่า