Blue Ocean Strategy คืออะไร?
Blue Ocean Strategy คือ กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม ซึ่งหมายถึงกลยุทธ์ที่มีแนวคิดในการหลีกเลี่ยงตลาดที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดจากการที่เป็นตลาดที่มีคู่แข่งภายในอุตสาหกรรมเดียวกันอยู่เป็นจำนวนมาก โดยกลยุทธ์น่านน้ำสีครามหรือ Blue Ocean Strategy จะมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาตลาดใหม่ที่มีการแข่งขันต่ำ
สำหรับประโยชน์ของกลยุทธ์ Blue Ocean Strategy คือสิ่งที่ต้องเท้าความไปที่ Red Ocean ที่หมายถึงตลาดที่มีการแข่งขันสูงเพราะมีคู่แข่งอยู่เป็นจำนวนมากและความแตกต่างของสินค้าอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้บริษัทเหล่านี้มักจะแข่งขันกันด้วยโปรโมชั่นและการตัดราคา
ซึ่งการแข่งกันจัดโปรโมชั่น (Promotion) อย่างดุเดือดโดยเฉพาะการตัดราคาจะส่งผลให้ต่างฝ่ายต่างเจ็บตัวจากกำไรที่ลดลง เทียบได้กับการนองเลือดจากการแข่งขันที่รุนแรงจนทำให้ทะเลกลายเป็นสีเลือด
กลับกัน Blue Ocean คือ น่านน้ำสีครามแสนสดใสที่ไม่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด ทำให้ธุรกิจสามารถแสวงหาโอกาสเพื่อทำกำไรได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีใครมาแย่งส่วนแบ่ง
อธิบายแบบรวบรัด กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม หรือ Blue Ocean Strategy คือการแสวงหาตลาดใหม่ที่มียังไม่มีใครบุกเบิก ตัวอย่างเช่น สินค้า/บริการที่ยังไม่เคยมีมาก่อน เพื่อที่ธุรกิจจะได้ไม่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือด
Blue Ocean Strategy ทำอย่างไร
Blue Ocean Strategy คือกลยุทธ์ที่เกิดขึ้นมาจากแนวคิดของ W. Chan Kim และ Renee Mauborgne ซึ่งเป็นอาจารย์จาก INSEAD (อินซีด) สถาบันทางด้านบริหารธุรกิจจากฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มมาจากแนวคิดเรื่อง Blue Ocean ที่ถูกตีพิมพ์อยู่ใน Harvard Business Review
แนวคิดของ Blue Ocean เป็นการมุ่งเน้นไปที่การสร้างความต้องการขึ้นมาใหม่และไม่เน้นการตอบสนองอุปสงค์เดิมที่มีอยู่ (เรียกว่า Demand Creation) โดยไม่สนใจการแข่งขันกับคู่แข่งเดิมที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม
อธิบายให้ง่ายกว่านั้น แนวคิดของ Blue Ocean Strategy คือการปฏิเสธการมุ่งไปที่การทำตามและเอาชนะคู่แข่งเดิมที่มีอยู่ แต่มุ่งไปที่การสร้างความต้องการขึ้นมาใหม่ด้วยการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา หรือการตอบสนองสิ่งที่ลูกค้าต้องการแต่ยังไม่เคยมีใครตอบสนองมาก่อน
หลัก ERRC
โดยหลักการของ Blue Ocean Strategy จะประกอบด้วย 4 ส่วน ที่บางครั้งอาจเรียกว่า ERRC ได้แก่กลยุทธ์ดังต่อไปนี้
- Eliminated (การยกเลิก)
- Reduced (การลด)
- Raised (การเพิ่ม)
- Created (การสร้างขึ้นมาใหม่)
Eliminated คือ การยกเลิกบางสิ่งที่เคยนำเสนอให้กับลูกค้าเพราะมองว่าลูกค้าต้องการสิ่งนั้น แต่ในปัจจุบันหรือในความเป็นจริงนั่นเป็นสิ่งที่ลูกค้าไม่ได้มีความต้องการแต่อย่างใด เพียงแต่ก่อนหน้านี้ลูกค้าอาจใช้เพราะไม่มีทางเลือก
Reduced คือ การลดคุณค่าบางอย่างที่ลูกค้าได้รับลงให้ต่ำกว่าระดับอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มความคุ้มค่าของราคา เพราะคุณค่าบางอย่างที่เกินมาบางครั้งอาจเกิดจากการคิดว่าลูกค้าต้องการ แต่ในความเป็นจริงลูกค้าไม่ได้ต้องการมากขนาดนั้น (ใช้เล็กน้อย แต่ไม่ได้ใช้เป็นหลัก)
Raised คือ การเพิ่มคุณค่าบางอย่างให้สูงกว่าระดับของอุตสาหกรรม (ตรงข้ามกับ Reduced) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ลูกค้าต้องการแต่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง
Created คือ การสร้างบางสิ่งที่ลูกค้าต้องการแต่ไม่เคยมีใครตอบสนองมาก่อน หรือสิ่งที่ลูกค้าอาจไม่รู้ว่าตัวเองต้องการมาก่อน
ตัวอย่าง Blue Ocean Strategy
Nintendo Wii ที่เปลี่ยนจากจับกลุ่มผู้ที่เล่นเกมแบบกด มาจับกลุ่มการเล่นเกมด้วยการใช้การออกท่าทางแทน
Bloomberg ที่หันมาทำสำนักข่าวเกี่ยวกับ การเงิน การลงทุน เป็นเจ้าแรก
ซึ่งทั้ง 2 ตัวอย่าง เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ณ เวลานั้น จะเห็นว่าข้อดีของ Blue Ocean Strategy คือ ยังไม่มีคู่แข่งและยังเติบโตได้เรื่อยๆ (อย่างน้อยก็จนกว่าพวก Me Too จะตามมา) เพราะตลาดนี้ยังใหม่ นั่นหมายความว่ามันจะยังเติบโตได้อีกแน่นอน
แต่อย่างไรก็ตามถ้าตลาดใหม่ที่ว่านี่เกิดโตขึ้นมา ก็จะมีหน้าใหม่เข้ามา จนในที่สุดก็จะเกิดการแข่งขันอยู่ดี ซึ่งควรระวังตัวอยู่เสมอ อย่าชะล่าใจไปว่าไม่มีคู่แข่ง เพราะอาจจะรู้ตัวอีกทีตอนที่โดนแซงไปแล้วก็ได้