GreedisGoods » Investment » Bond Yield กับตลาดหุ้น มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?

Bond Yield กับตลาดหุ้น มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?

by Kris Piroj
Bond Yield กับตลาดหุ้น Bond Yield ส่งผลอะไรต่อตลาดหุ้น

การเพิ่มขึ้นของ Bond Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี หลายครั้งทำให้เกิดการเทขายของตลาดหุ้น ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจ ความสัมพันธ์ระหว่าง Bond Yield กับตลาดหุ้น ว่าทำไม Bond Yield ขึ้นแล้วตลาดหุ้นต้องตัวลงในหลาย ๆ ครั้ง

ความสัมพันธ์ของ Bond Yield กับตลาดหุ้น

Bond Yield กับตลาดหุ้น คือสิ่งที่ตามปกติจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน เพราะตามปกติการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลหรือ Bond Yield เพิ่มสูงขึ้นมักจะเป็นผลจากการที่นักลงทุนมองว่าอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) กำลังจะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้

พื้นฐานของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) จะขึ้นอยู่กับมุมมองต่อตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) ซึ่งเป็นตัวเลขเงินเฟ้อในอนาคตที่มาจากพื้นฐานของระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ณ เวลานั้น

แม้ว่า Bond Yield ที่ปรับตัวสูงขึ้นถือเป็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจที่กำลังจะกลับมาฟื้นตัว เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น (แบบไม่รุนแรง) อาจหมายถึงการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น

แต่ในกรณีที่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกลับเป็นผลเสียกับภาคธุรกิจ เพราะในกรณีดังกล่าวธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อีกทั้งเงินเฟ้อยังทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตจากสินค้า Commodities เช่น เหล็ก น้ำมัน และโลหะต่าง ๆ

ในกรณีที่ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงต้นทุนในการกู้ยืมของบริษัทหรือก็คือดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มสูงขึ้นทำให้บริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การออกหุ้นกู้ก็ทำได้ยากขึ้นเนื่องจากต้องเพิ่มดอกเบี้ยให้นักลงทุนมากขึ้นตามดอกเบี้ยในตลาด (เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้ซื้อหุ้นกู้ของบริษัท)

ทั้งหมดส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ในอนาคตจะสามารถทำกำไรได้น้อยลง จากทั้งต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นซึ่งทำให้บริษัทขยายธุรกิจได้ยากขึ้นและจากเงินเฟ้อที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น (โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตจากสินค้า Commodities ที่ราคาเพิ่มขึ้น) ในกรณีที่เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็น Cost Push Inflation

ผลตอบแทนของหุ้นไม่น่าสนใจอีกต่อไป

การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) หมายความว่า พันธบัตรรุ่นใหม่ ๆ ที่กำลังจะออกมาในอนาคตก็จะให้ผลตอบแทนพันธบัตร (Coupon Rate) เพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น

การย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนจากหุ้น (ที่มีความเสี่ยงมากกว่าพันธบัตร) แล้วย้ายเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าแต่มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าหุ้นมากจึงเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ปกติเมื่อ Bond Yield อยู่ในช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่นักลงทุนมองว่าธนาคารกลางกำลังจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอันใกล้

อธิบายให้ง่ายกว่านั้นก็คือ เมื่อ Bond Yield หรือผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ให้ผลตอบแทนที่สูงพอกับเงินปันผลของหุ้นซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงกว่า จึงเป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนจะเลือกลงทุนในพันธบัตร

เงินเฟ้อจึงส่งผลให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield) ของพันธบัตรรัฐบาลมีแนวโน้มลดลง เมื่อ Real Yield ของพันธบัตรรัฐบาลลดลงก็จะทำให้ความน่าลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลดลง ส่งผลให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น อย่างหุ้นในตลาดหุ้น เพื่อรักษาผลตอบแทนให้ได้เท่าเดิม

Bond Yield กับตลาดหุ้น 10 Year Treasury Yield vs S P 500 dividend Yield
กราฟเปรียบเทียบผลตอบแทน 10 Year Treasury Yield กับ Dividend Yield ของหุ้นในดัชนี S&P500 ในช่วงเวลาเดียวกัน

ดังนั้น ความสัมพันธ์ของ Bond Yield กับตลาดหุ้น จึงเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เมื่อ Bond Yield เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้แนวโน้มของราคาหุ้นลดลง ในทางกลับกันเมื่อ Bond Yield ปรับตัวลดลงก็จะทำให้แนวโน้มราคาหุ้นเพิ่มขึ้น จากการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนจากพันธบัตร (ที่ให้ผลตอบแทนลดลง) ไปยังสินทรัพย์เสี่ยง

สำหรับใครที่ต้องการอ่านทำความเข้าใจกับ Bond Yield แบบละเอียด หรือกำลังงงกับกลไกการทำงานของ Bond Yield สามารถอ่านเพื่อทำความเข้าใจก่อนได้ที่บทความ Bond Yield คืออะไร? และกลไกผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล

Discount Cash Flow

ในกรณีที่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ Discount Rate หรืออัตราคิดลด ที่นักลงทุนใช้ในการคำนวณ Discount Cash Flow เพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลขที่คำนวณออกมาน้อยลง (เพราะ Discount Rate ที่เป็นตัวหารเพิ่มขึ้น)

เมื่อนักลงทุนคำนวณ Discount Cash Flow ออกมาได้ตัวเลขที่ลดลง ก็จะทำให้นักลงทุนมองว่าหุ้นบางตัวไม่อยู่ในจุดที่ราคาเหมาะสมเมื่อเทียบกับราคาปัจจุบันอีกต่อไป จึงทำให้เกิดการเทขายหุ้นเหล่านั้นออกมาได้เช่นกัน

ทำไมเทียบ Bond Yield กับตลาดหุ้น

สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าทำไมถึงเทียบผลตอบแทนของ Bond Yield กับตลาดหุ้น และกำลังสงสัยว่าทำไมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลหรือ Bond Yield ที่เราพูดถึงในบทความนี้ถึงดูให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับหุ้น ทั้งที่หลายครั้งเราได้ยินว่าหุ้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแถว ๆ 10% ต่อปีไม่ใช่หรือ?

คำตอบคือผลตอบแทนของพันธบัตรหรือ Bond Yield ที่เราพูดถึงถูกนำไปเทียบกับเงินปันผล (Dividend) ของหุ้น โดยจะดูจากอัตรา Earning Yield ไม่ได้เทียบกับผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้จากกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain)

เพราะการเลือกลงทุนในพันธบัตรโดยพื้นฐานแล้วเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งพันธบัตรเองก็จะให้ผลตอบแทนกับนักลงทุนอย่างน้อยปีละครั้งจนกว่าจะครบกำหนดไถ่ถอน

ข้อมูลอ้างอิงจาก: TheBalance, Investopedia

บทความที่คุณอาจสนใจ

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด