Bond Yield คืออะไร?
Bond Yield คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่นักลงทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล (Bond) จะได้รับในรูปของดอกเบี้ย โดย Bond Yield หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสามารถคำนวณได้จากผลตอบแทนพันธบัตรต่อปีหารด้วยมูลค่าที่ตราไว้ของพันธบัตร (Face Value หรือ Par Value)
ตามปกติ Bond Yield หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะมีทิศทางที่สวนทางกับราคาของพันธบัตร ถ้าหากราคาพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้นก็จะทำให้ Bond Yield ลดลง ในทางกลับกันถ้าหากราคาพันธบัตรลดลงก็จะยิ่งทำให้ Bond Yield เพิ่มขึ้น
สำหรับ Bond Yield ที่เป็นประเด็นพูดถึงของนักลงทุนทั่วโลกและเห็นได้บ่อยในข่าวการลงทุนมาโดยตลอดคือ Bond Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี (10-year Treasury Yield)
กลไกราคาของ Bond Yield
ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับกลไกราคาของ Bond Yield ขั้นแรกเริ่มจากรู้จักกับพันธบัตรรัฐบาลกันก่อน โดย Bond หรือ พันธบัตรคือตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ และนักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้จะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้ที่ออกตราสารหนี้ (ในกรณีนี้ก็คือรัฐบาล) และจะได้รับผลตอบแทน หรือ Yield เป็นดอกเบี้ย
โดยตัวเลขบนพันธบัตรที่เกี่ยวกับ Bond Yield จะประกอบด้วย
- Face Value หรือ Par Value คือ ตัวเลขหนี้ที่ผู้ออกพันธบัตรต้องจ่ายคืน เทียบได้กับเงินต้นที่ถูกยืมไป
- Coupon Rate คือ อัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมที่ผู้ออกพันธบัตรจะจ่ายให้ต่อปี
- Coupon Payment คือ ดอกเบี้ยที่ผู้ถือพันธบัตรจะได้รับต่อปี (มาจาก Face Value x Coupon Rate)
Bond Yield สามารถคำนวณได้จากผลตอบแทนพันธบัตรต่อปี (Coupon Payment) หารด้วยมูลค่าที่ตราไว้ของพันธบัตร (Face Value หรือ Par Value)
Bond Yield = (Coupon Payment / Face Value) x 100
ตัวอย่างเช่น รัฐบาลสหรัฐฯ ออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ครบกำหนดปี 2021 รุ่น Z โดยมีราคาที่ตราไว้ (Par Value) $1,000 และระบุว่าให้ดอกเบี้ย 1% ต่อปี (ส่วนนี้เรียกว่า Coupon Rate) ถ้านักลงทุนซื้อตราสารหนี้รุ่นนี้และถือเอาไว้ก็จะได้ดอกเบี้ยปีละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1% ส่วนนี้เองที่เรียกว่า Bond Yield
Bond Yield = (10 / 1,000) x 100 = 1%
อย่างไรก็ตาม ตราสารหนี้มีตลาดรองที่นักลงทุนสามารถซื้อขายตราสารหนี้ ซึ่งการซื้อขายพันธบัตรในตลาดรองส่งผลให้ราคาพันธบัตรเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามปริมาณความต้องการพันธบัตรรุ่นนั้น ทำให้นักลงทุนที่ถือตราสารหนี้ไม่จำเป็นต้องถือตราสารหนี้จนครบอายุ และสามารถซื้อขายพันธบัตรเพื่อทำกำไรจากราคาพันธบัตรได้ (เหมือนการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้น)
Bond Yield กรณีพันธบัตรราคาสูงขึ้น (Premium)
จากตัวอย่างเดิม สมมติว่าด้วยเหตุผลบางอย่างพันธบัตรรัฐบาลดังกล่าวกลายเป็นที่ต้องการในตลาดรองจนส่งผลให้ราคาซื้อขายพันธบัตรดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น $2,000 (การซื้อพันธบัตรในราคาที่สูงกว่า Face Value เรียกว่า Premium) ในขณะที่พันธบัตรดังกล่าวยังคงให้ผลตอบแทน $10 ต่อปีเท่าเดิม ก็จะส่งผลให้ Bond Yield หรือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลงเหลือ 0.5% ต่อปี
Bond Yield = (10 / 2,000) x 100 = 0.5%
จะเห็นว่าเมื่อราคาซื้อขายพันธบัตรในตลาดรองเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้ Bond Yield จากการลงทุนในพันธบัตรดังกล่าวลดลงตาม เนื่องจากผลตอบแทนจากพันธบัตรยังคงเท่าเดิมในขณะที่ราคาซื้อขายพันธบัตรในตลาดรองเพิ่งขึ้น
Bond Yield กรณีพันธบัตรราคาลดลง (Discount)
ในทางกลับกันถ้าหากว่าพันธบัตรรุ่นเดียวกันนี้ไม่เป็นที่ต้องการจนราคาซื้อขายในตลาดพันธบัตรลดลง สมมติว่าเหลือ $800 ก็จะทำให้นักลงทุนที่ซื้อพันธบัตรได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคา Face Value (เรียกว่า Discount) ก็จะทำให้ Bond Yield เพิ่มสูงขึ้นจากการที่จ่ายเงินน้อยลงแต่ได้ผลตอบแทนเท่าเดิม
Bond Yield = (10 / 800) x 100 = 1.25%
สำหรับการคำนวณ Bond Yield ในกรณีนี้จะเรียกว่า Current Yield ที่เป็นการคิด Yield ในปัจจุบัน ซึ่งเป็น Bond Yield ที่มูลค่าเปลี่ยนไปตามราคาซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง
หมายเหตุ: ในบทความนี้ไม่ได้คำนวณ Bond Yield บนพื้นฐานของมูลค่าเงินตามเวลา (Time Value of Money) เพื่อความง่ายต่อการทำความเข้าใจ
อะไรส่งผลต่อราคาพันธบัตร
อย่างที่รู้กันว่าสิ่งทำทำให้ Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้น คือความต้องการขายพันธบัตร ซึ่งสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนเทขายพันธบัตรรัฐบาลออกมาจนทำให้ Bond Yield เพิ่มสูงขึ้น คือ การที่นักลงทุนมองว่าพันธบัตรรัฐบาลไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนอีกต่อไป
โดยทั่วไปมีสาเหตุจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากผลของการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของธนาคารกลางสหรัฐฯ ผ่านมาตรการ Quantitative Easing หรือ QE
เมื่อเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงหรือ Real Yield ซึ่งเป็นผลตอบแทนหลังหักเงินเฟ้อออก (Yield – Inflation Expectation) ที่นักลงทุนจะได้รับก็จะลดลง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่นักลงทุนเลือกที่จะเทขายพันธบัตรรัฐบาลรุ่นปัจจุบันและหันไปลงทุนสินทรัพย์อื่น (หรือถือเงินสดไว้ในระยะสั้น)
นอกจากนี้ เมื่อธนาคารกลางอย่าง Fed ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พันธบัตรรุ่นใหม่ที่ออกมาก็จะให้ดอกเบี้ยที่มากขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น จึงไม่มีเหตุผลที่นักลงทุนจะถือพันธบัตรรุ่นเก่าเอาไว้ แต่เลือกที่จะเทขายพันธบัตรเก่าออกไปเพื่อนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ซื้อตราสารหนี้ระยะสั้น หรือรอซื้อพันธบัตรรุ่นใหม่ที่ให้ผลตอบแทน (Yield) ที่มากขึ้น