GreedisGoods » Marketing » Brand Awareness คืออะไร? จะสร้างการรับรู้แบรนด์ได้อย่างไร

Brand Awareness คืออะไร? จะสร้างการรับรู้แบรนด์ได้อย่างไร

by Kris Piroj
Brand Awareness คือ การ รับรู้แบรนด์ Brand Awareness หมายถึง

Brand Awareness คือ การรับรู้แบรนด์ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ ที่ทำให้ลูกค้ารู้จัก Brand และจดจำได้ว่าเป็นแบรนด์เกี่ยวกับอะไร ทำอะไรหรือขายอะไร โดยการสร้าง Brand Awareness สามารถทำได้โดยการใช้เครื่องมือสื่อสารทางการตลาดไปหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

การรับรู้แบรนด์หรือ Brand Awareness เป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์จะช่วยให้ลูกค้าสามารถแยกสินค้าของแบรนด์ได้จากสินค้าแบบเดียวกันมากกว่า 10 แบรนด์ที่มีอยู่ในตลาด

ตัวอย่างเช่น ถ้าหากคุณสังเกตตัวเองจะพบว่าจะมีแบรนด์ผงซักฟอกหรือน้ำยาปรับผ้านุ่มอยู่ไม่กี่แบรนด์ที่คุณรู้จักหรือคุ้นชิน เมื่อเทียบกับทุกแบรนด์ที่วางอยู่บน Shelf ของห้างสรรพสินค้า

นอกจากนี้ยังมีอีกกรณี คือ กรณีที่คุณจำแบรนด์ของข้าวสารที่คุณซื้อไม่ได้ (หรือจำได้แค่ยี่ห้อที่ซื้ออยู่ยี่ห้อเดียว) นั่นก็เพราะข้าวสารไม่ได้สร้างการรับรู้แบรนด์ให้กับคุณ และส่วนใหญ่แบรนด์ข้าวสารก็ไม่ได้พยายามสร้าง Brand Awareness ให้กับผู้บริโภคมากเท่าไหร่

การรับรู้แบรนด์ สำคัญอย่างไร

ประโยชน์ที่สำคัญของ Brand Awareness คือการที่ลูกค้าสามารถจดจำได้ว่าแบรนด์ขายอะไร เพื่อที่แบรนด์จะได้กลายเป็นตัวเลือกของลูกค้าเมื่อลูกค้าต้องการกำลังมองหาสินค้าบางอย่าง และในกรณีที่ดีที่สุดคือลูกค้านึกถึง Brand เป็นอันดับแรกเมื่อมองหาสินค้าชนิดนั้น

อย่างเช่น Search Engine นึกถึง Google, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนึกถึงมาม่า, กีตาร์นึกถึง Gibson หรือ Fender, รองเท้ากีฬานึกถึง Adidas หรือ Nike เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่อลูกค้าสามารถจดจำแบรนด์ได้แล้วยังช่วยทำให้การออกสินค้าใหม่ของแบรนด์ง่ายขึ้น จากการที่ลูกค้ารู้จักชื่อแบรนด์ (ในด้านดี) อยู่แล้ว

ส่งผลให้ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากจุดที่ลูกค้าไม่รู้ว่าแบรนด์ทำอะไร (หรือเริ่มจากจุดนั้นก็เริ่มได้ง่ายกว่า) และลูกค้ามีความกล้าที่จะลองสินค้ามากกว่าสินค้าของแบรนด์อะไรก็ไม่รู้ที่ลูกค้าไม่รู้จัก

วิธีสร้าง Brand Awareness

วิธีการสร้าง Brand Awareness คือ อะไรก็ได้ที่สามารถทำให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์และรู้ว่าแบรนด์ทำอะไร (ในภาพลักษณ์ที่ดี) ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี โดยมีเงื่อนไข 3 ข้อในการสร้างการรับรู้แบรนด์ คือ

  1. ทำให้ลูกค้ารู้จักชื่อแบรนด์
  2. ลูกค้ารู้ว่าแบรนด์ทำอะไร
  3. ไม่ใช้วิธีที่สร้างชื่อเสียให้แบรนด์

การลงโฆษณา (Advertisement) ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาบนทีวี บนเว็บไซต์ ป้ายโฆษณา Facebook รวมไปถึงการจ้าง Influencer โฆษณาบนช่องทางของ Influencer เหล่านั้น เช่น Instagram Facebook Twitter และ YouTube เป็นต้น

การจ้าง Influencer รีวิวสินค้า โดยให้ผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายรีวิวสินค้าของแบรนด์ว่ามีจุดเด่นจุดด้อยอะไรบ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ แทนที่จะจ้างให้โฆษณาสินค้าเฉยๆ

การทำ Content Marketing เช่น Infographic การทำวิดีโอคอนเทนต์ และการเขียนบทความลงเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย

สปอนเซอร์สินค้าของแบรนด์ให้กับผู้มีอิทธิพล (Influencer) ต่อผู้บริโภค เช่น ให้นักกีฬาใส่รองเท้าของแบรนด์ ให้นักดนตรีใช้เครื่องดนตรีของแบรนด์ รวมไปถึงการออกสินค้ารุ่นพิเศษให้กับผู้ที่มีอิทธิพลต่อผู้บริโภค

ตัวอย่างเช่น Eric Clapton ที่มักจะใช้กีตาร์ไฟฟ้าของ Fender ซึ่งทาง Fender เองก็ผลิตกีตาร์รุ่น Signature ที่เป็นรุ่นพิเศษของ Eric Clapton ออกมามากมายหลายรุ่น

การจัดกิจกรรมบน Social Media เช่น การจัดกิจกรรมให้ผู้ติดตาม Like Comment และ Share เพื่อชิงรางวัล ซึ่งการที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม Like Page ก็จะทำให้แบรนด์ได้ผู้ติดตามมากขึ้น และการ Share ก็จะทำให้โพสของแบรนด์กระจายออกไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

บทความที่เกี่ยวข้อง