GreedisGoods » Marketing » Brand Identity Prism คืออะไร? สร้าง Brand Identity ได้อย่างไร

Brand Identity Prism คืออะไร? สร้าง Brand Identity ได้อย่างไร

by Kris Piroj
Brand Identity Prism คือ องค์ประกอบของ Brand Identity วิธีสร้าง อัตลักษณ์ของแบรนด์

Brand Identity Prism คืออะไร?

Brand Identity Prism คือ แนวคิดที่ใช้อธิบายและสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) และภาพลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Image) โดยแบ่ง Brand Identity Prism ออกเป็น 6 มิติ ได้แก่ Physique, Personality, Culture, Relationship, Reflection, และ Self-Image

โดย Brand Identity Prism เป็นแนวคิดของ Jean-Noël Kapferer (J. Kapferer) ที่ถูกนำเสนอครั้งแรกในปี 1986 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายให้เห็นภาพว่าอัตลักษณ์ของแบรนด์ถูกแสดงออกมาอย่างไรในแต่ละแง่มุม

แนวคิด Brand Identity Prism ทั้ง 6 มิติ ในเบื้องต้นมีความหมาย ดังนี้

  1. Physique (ลักษณะที่ลูกค้ามองเห็น)
  2. Personality หรือ Brand Personality (มุมมองที่ลูกค้ามองแบรนด์ว่าเป็นอย่างไร)
  3. Culture (มุมมองด้านวัฒนธรรมของแบรนด์)
  4. Relationship (ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์)
  5. Reflection หรือ Customer Reflection (คนทั่วไปมองว่าแบรนด์นี้เป็นของกลุ่มไหน)
  6. Self-Image หรือ Customer Self-Image (สิ่งที่ลูกค้ารู้สึกจากการใช้สินค้าจากแบรนด์)

ประโยชน์ของ Brand Identity Prism ต่อนักการตลาด คือ การใช้สำหรับวางแผนในการสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) ขึ้นมาใหม่ หรือนำไปใช้ในการวิเคราะห์ Brand Identity ในปัจจุบัน เพื่อการปรับปรุง Brand Identity ให้ดียิ่งขึ้นเพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถจดจำแบรนด์ได้อย่างรวดเร็ว

เพราะ Brand Identity เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกัน จากการที่ลูกค้าสามารถจดจำแบรนด์ได้จากสินค้าชนิดเดียวกันมากมายหลายแบรนด์ที่มีอยู่ในตลาด

Physique

Physique คือ ลักษณะของแบรนด์ที่ลูกค้ามองเห็น และรวมไปถึงสิ่งที่ลูกค้านึกภาพออกเมื่อเห็นแบรนด์

โดยสิ่งที่ลูกค้ามองเห็นหรือ Physique ได้แก่ สี ฟอนต์ รูปลักษณ์สินค้า โลโก้ หรืออะไรก็ตามที่ดึงภาพของสินค้านั้นขึ้นมาในหัวลูกค้าทันทีที่เห็น สำหรับตัวอย่าง Physique ของ Brand Identity Prism ได้แก่:

  • การที่ Logo ของ Nike (โดยไม่ต้องเห็นชื่อแบรนด์) ก็จะนึกออกทันทีว่าเป็นแบรนด์ Nike
  • Logo ม้าในท่ายืนก็จะนึกถึงแบรนด์ Ferrari
  • รถ Supercar ที่รูปทรงเหลี่ยม คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแบรนด์ Lamborghini
  • สัญลักษณ์แอปเปิลแหว่งของ Apple ซึ่งต่อให้แหว่งผิดด้าน แต่ท้ายที่สุดคนก็จะยังนึกถึงแบรนด์ Apple ก่อนอยู่ดี

Personality

Personality คือ บุคลิกภาพของแบรนด์หรือรู้จักกันดีในชื่อ Brand Personality เป็นสิ่งที่ลูกค้าจะมองแบรนด์ว่าแบรนด์เป็นอย่างไร

กล่าวคือ Brand Personality เทียบได้กับการที่เมื่อมองคนคนหนึ่งแล้วรู้สึกว่าบุคลิกภาพของคนคนนั้นเป็นอย่างไร

แบรนด์ควรที่จะบอกได้ว่าต้องการมีบุคลิกภาพของแบรนด์เป็นแบบไหน รวมถึงต้องทำให้ลูกค้ามองแบรนด์ไปในแบบที่แบรนด์ต้องการให้มองด้วย ตัวอย่างเช่น:

  • Ferrari ถูกมองเป็นแบรนด์ของรถ Formula 1 จากทีม Scuderia Ferrari และมีความเป็นอิตาลี
  • Lamborghini มีบุคลิกที่ดุดัน แข็งแรง

Culture

Culture คือ มุมมองในด้านวัฒนธรรมของแบรนด์ โดย Brand Culture เป็นสิ่งที่จะสะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์เกี่ยวกับที่มาของแบรนด์ (Country of Origin) ตัวอย่างเช่น:

  • Coca Cola เป็นแบรนด์อเมริกัน (เช่นเดียวกันกับ McDonald และ KFC)
  • Mustang และ Dodge เป็นรถประเภท Muscle Car ที่เป็นของที่ต้องมาจากอเมริกา
  • Porsche, Audi, BMW, และ Mercedes Benz ที่คนทั่วไปรับรู้ว่าเป็นเยอร์มัน

Relationship

Relationship คือ เรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ (Relationship) ระหว่างลูกค้าต่อแบรนด์ เป็นสิ่งที่ลูกค้ามองว่าแบรนด์ปฏิบัติอย่างไรกับพวกเขาหรือมอบอะไรให้กับพวกเขา

มุมมองในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ที่พบได้บ่อย เช่น เป็นแบรนด์ที่เอาใจใส่ลูกค้า, ทิ้งลูกค้า, ไม่สนใจเสียงลูกค้า, เชื่อถือได้, ราคาจับต้องได้, มีคุณภาพ, และมีคุณค่าเหนือการเวลา เป็นต้น

Reflection

Reflection หรือ Customer Reflection คือ ฐานลูกค้าของแบรนด์ถูกมองว่าคือใคร คนมองว่าแบรนด์นี้เป็นของคนกลุ่มไหน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแบรนด์อาจจะมีลูกค้ามากกว่าคนกลุ่มนั้น (ที่คนส่วนใหญ่คิด) ก็ได้

ตัวอย่างของ Brand Identity Prism ด้าน Customer Reflection ได้แก่:

  • Ferrari และ Lamborghini ถูกมองว่าเป็นแบรนด์สำหรับผู้ชายที่ชอบความเร็ว
  • Porsche ถูกมองว่าเป็นแบรนด์สำหรับผู้ชายที่ชอบความหรูและความเร็ว แต่ยังสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้
  • Mercedes Benz ถูกหลายคนมองว่าเป็นรถผู้หญิงขับ (และ Benz รุ่นปีเก่า ๆ ถูกมองว่าเป็นรถคนแก่)

Self-Image

Self-Image หรือ Customer Self-Image คือ สิ่งที่ลูกค้าจะมองตัวเองหรือเป็นสิ่งที่ลูกค้ารู้สึกจากการใช้สินค้าจากแบรนด์ ซึ่งจริง ๆ แล้วลูกค้าอาจจะรู้สึกแบบที่แบรนด์คิดว่าลูกค้าจะรู้สึกหรือไม่ก็ได้

เพียงแต่แบรนด์ควรจะทำให้ลูกค้ารู้สึกหรือได้รับประสบการณ์ตามที่แบรนด์ได้วางไว้ ตัวอย่างของ Brand Identity Prism ด้าน Customer Self-Image ได้แก่:

  • Lamborghini และ Ferrari สิ่งที่ผู้ใช้งานจะได้รับหรืออาจจะรู้สึกว่าเป็นที่สุด ไม่เหมือนใคร เร็วกว่าแรงกว่า
  • Nike และ Adidas ผู้ใช้งานอาจรู้สึกว่า ตัวเองเป็นคนช่างแต่งตัวหรือเป็นคนแต่งตัวดูดี หรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเล่นกีฬา

บทความที่คุณอาจสนใจ

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด