GreedisGoods » Business » จุดคุ้มทุน หรือ Break Even Point คืออะไร? หาอย่างไร

จุดคุ้มทุน หรือ Break Even Point คืออะไร? หาอย่างไร

by Kris Piroj
จุดคุ้มทุน คือ Break Even Point คือ BEP การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน

Break Even Point คืออะไร?

Break Even Point คือ จุดคุ้มทุน ซึ่งเป็นจุดที่เท่าทุนซึ่งเป็นจุดที่ไม่ได้กำไรและไม่เกิดการขาดทุน เนื่องจากจุดคุ้มทุนคือจุดที่รายรับเท่ากับต้นทุน เป็นจุดที่ธุรกิจจะได้กำไรจนคืนทุนพอดี กล่าวคือ หากว่าต้องการที่จะได้กำไรก็ต้องผ่านจุดคุ้มทุน (Break Even Point) ให้ได้ก่อน

ดังนั้น จุดคุ้มทุน (Break Even Point) คือจุดที่รายรับเท่ากับต้นทุน ในขณะที่จุดที่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุนก็คือขาดทุน (Loss) และจุดที่มากกว่าจุดคุ้มทุนคือกำไร (Profit) นั่นเอง

จากทั้งหมดที่อธิบายมา จะเห็นว่าประโยชน์ที่สำคัญของ จุดคุ้มทุน หรือ Break Even Point คือทำให้รู้เป้าหมายว่าต้องขายกี่ชิ้น และรู้ว่าควรตั้งราคาเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม เพราะการที่จะเริ่มต้นทำกำไรได้นั้นจะต้องผ่านจุดคุ้มทุน (Break Even Point) ให้ได้ก่อน ซึ่งการที่ไม่รู้จุดคุ้มทุนก็ไม่ต่างจากทำไปเรื่อย ๆ โดยไม่สนกำไรขาดทุน

นอกจากนี้ การไม่ให้ความสำคัญกับจุดคุ้มทุนยังอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการตั้งราคา (ในบางกรณีอาจทำให้ตั้งราคาต่ำกว่าต้นทุน) ซึ่งเป็นที่มาของปัญหา “ขายเท่าไหร่ ก็ไม่มีกำไรซักที”

วิธีหาจุดคุ้มทุน (Break Even Point)

ในการหา Break Even Point หรือจุดคุ้มทุน หลัก ๆ จะเกี่ยวข้องกับ 3 ประเด็น ได้แก่

  1. ต้องขายได้กี่ชิ้นจึงจะคุ้มทุน
  2. ต้องขายได้ยอดขายกี่บาทจึงจะคุ้มทุน
  3. ต้องขายชิ้นละกี่บาทจึงจะคุ้มทุน (กำไร 0 บาท)

อย่างไรก็ตามในการที่จะ คำนวณหา Break Even Point หรือ จุดคุ้มทุน จะต้องเข้าใจ 2 สิ่งนี้ก่อน ได้แก่

ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) คือ ต้นทุนที่ไม่ว่าจะผลิตสินค้ากี่ชิ้นต้นทุนโดยรวมของต้นทุนคงที่ก็จะยังเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตาม ต้นทุนคงที่ต่อหน่วยจะลดลงตามจำนวนหน่วยผลิตที่มากขึ้น

เช่น ต้นทุนค่าเช่าที่ดิน สมมติว่าเดือนละ 60,000 บาท ไม่ว่าจะผลิตกี่ชิ้น (หรือไม่ผลิต) ต้นทุนก็ยังเป็น 60,000 บาท อย่างไรก็ตามถ้าผลิตสินค้า 1,000 ชิ้น ต้นทุนคงที่เฉลี่ยของสินค้าจะเท่ากับ 60 บาทต่อชิ้น (60,000 ÷ 1,000) แต่ถ้าเพิ่มจำนวนการผลิตเป็น 10,000 ชิ้น ต้นทุนคงที่เฉลี่ยจะลดลงเหลือชิ้นละ 6 บาทเท่านั้น (60,000 ÷ 10,000)

ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) คือ ต้นทุนในการผลิตที่เปลี่ยนแปลง (ผันแปร) ไปตามจำนวนสินค้าที่ผลิต ผลิตมาจ่ายมาก ผลิตน้อยจ่ายน้อย

ตัวอย่างเช่น ผ้าที่ใช้ตัดเสื้อ แบตโทรศัพท์ที่ใช้ประกอบเป็นโทรศัพท์ และปุ่มที่ใช้ประกอบเป็นคีย์บอร์ด เป็นต้น

การหาจุดคุ้มทุนของหน่วยขาย

การหาจุดคุ้มทุนของหน่วยขายเป็นการหาจุดคุ้มทน (Break Even Point) ในกรณีที่อยากรู้ว่าต้องขายกี่ชิ้นถึงจะคุ้มทุน

จำนวนหน่วยขายที่คุ้มทุน = ต้นทุนคงที่ ÷ (ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย)

ตัวอย่างเช่น บริษัท A ผลิตของเล่น มีต้นทุนคงที่รวมแล้ว 100,000 บาท โดยของเล่นแต่ละชิ้นจะใช้วัตถุดิบ 3 ชิ้นซึ่งมีราคารวม 100 บาท ซึ่งของเล่นดังกล่าวขายในราคาชิ้นละ 600 บาท

จำนวนหน่วยขายที่คุ้มทุน = 100,000 ÷ (600 – 100)

ดังนั้น บริษัท A ต้องผลิตของเล่นดังกล่าวทั้งหมด 200 ชิ้น บริษัท A ถึงจะคุ้มทุน

การหาจุดคุ้มทุนของยอดขาย

การหาจุดคุ้มทุนของยอดขายเป็นการหาจุดคุ้มทน (Break Even Point) ในกรณีที่อยากรู้ว่าต้องขายให้ได้กี่บาทจึงจะคุ้มทุน

โดยจะสามารถหา จุดคุ้มทุนของยอดขาย ได้ง่าย ๆ ด้วยการนำ จำนวนหน่วยขายที่คุ้มทุน x ราคาขายต่อหน่วย หรือ ขายให้ได้เท่ากับต้นทุนรวมจากการผลิต

ยอดขายที่คุ้มทุน = จำนวนหน่วยขายที่คุ้มทุน x ราคาขายต่อหน่วย

บริษัท A มี จำนวนหน่วยขายที่คุ้มทุน คือ 200 ชิ้น และบริษัท A ขายของเล่นชิ้นละ 600 บาท

  • ยอดขายที่คุ้มทุน = 200 x 600

ดังนั้น ยอดขายที่คุ้มทุนของบริษัท A คือ ขายให้ได้ 120,000 บาท

การหาจุดคุ้มทุนของราคาขาย

การหาจุดคุ้มทุนของราคาขายเป็นการหาจุดคุ้มทน (Break Even Point) ในกรณีที่อยากรู้ว่าต้องขายสินค้าชิ้นละกี่บาทจึงจะคุ้มทุน

ราคาที่คุ้มทุน = [(ต้นทุนคงที่ + (ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย x จำนวนสินค้า)] ÷ จำนวนสินค้าที่จะขาย

ตัวอย่างเช่น บริษัท B ผลิตเข็มขัด มีต้นทุนคงที่รวมแล้ว 200,000 บาท มีต้นทุนผันแปรต่อหน่วย 300 บาท และบริษัท B ผลิตเข็มขัดออกมาทั้งหมด 10,000 เส้น

  • ราคาที่คุ้มทุน = [(200,000 + (300 x 10,000)] ÷ 10,000

ดังนั้น บริษัท B ต้องตั้งราคาของเข็มขัดไว้ที่เส้นละ 320 บริษัทจึงจะขายเข็มขัด 10,000 เส้นโดยไม่ขาดทุน (และไม่ได้กำไร)

บทความที่เกี่ยวข้อง