CANSLIM คือ หลักการเลือกหุ้นที่เป็นแนวคิดของ William J. O’Neil จากหนังสือ How to Make Money in Stocks ซึ่งหลัก CANSLIM จะเป็นวิธีเลือกหุ้นที่จะพิจารณาจาก 7 ปัจจัยที่เป็นส่วนผสมระหว่างปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) และการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis)
สำหรับ 7 ปัจจัยในการเลือกซื้อหุ้นที่ดีของหลัก CAN SLIM ได้แก่ Current earnings, Annual earnings, New product, Supply and Demand, Leader or laggard, Institutional Sponsorship, และ Market direction
โดยหลัก CAN SLIM แต่ละปัจจัยจะมีความหมายคร่าว ๆ ดังนี้:
- Current earnings คือ มีอัตราการเติบโตของกำไรมากกว่า 25%
- Annual earnings คือ กำไรมากกว่า 25% ต่อปีใน 5 ปีที่ผ่านมา
- New product คือ บริษัทที่มีเรื่องใหม่และแตกต่าง
- Supply and Demand คือ มีปริมาณการซื้อขายสูง
- Leader or laggard คือ เลือกหุ้นที่เป็นผู้นำ
- Institutional Sponsorship คือ เลือกหุ้นที่นักลงทุนสถาบันลงทุน
- Market direction คือ ดูทิศทางของตลาด
อย่างไรก็ตาม แนวคิด CANSLIM ของ William J. O’Neil เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาจากตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่ต่างจากตลาดหุ้นไทย ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนใน ตลาดหุ้นไทย แนะนำให้ใช้ CANSLIM โดยปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพตลาด
Current Earnings
Current Earnings หมายถึง ให้หาหุ้นในบริษัทที่มีอัตราการเติบโตของกำไรมากกว่า 25% (อาจพิจารณาร่วมกับ Annual Earnings ในส่วนถัดไป)
Annual Earnings
Annual Earnings คือ การเลือกบริษัทที่ 5 ปีล่าสุดมีกำไรต่อปีอย่างน้อย 25% ต่อปี และมีค่า ROE หรือ Return on Equity ไม่ต่ำกว่า 17%
โดยพื้นฐานแล้ว CANSLIM ในส่วนของ Current Earnings และ Annual Earnings ยิ่งสูงยิ่งดี เนื่องจากเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรของหุ้นในปัจจุบัน
New Product
New Product คือ การมองหาบริษัทที่มีสิ่งใหม่หรือสิ่งที่แตกต่างจากที่คู่แข่งมี ถ้าพูดตามหลักบริหารก็คือ ให้หาหุ้นบริษัทที่สินค้ามีความแตกต่างตามหลัก Differentiation
ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ เทคโนโลยีใหม่ การขยายตลาดใหม่ ผู้บริหารใหม่ และแผนการดำเนินธุรกิจใหม่ เป็นต้น
Supply and Demand
Supply and Demand (อุปสงค์ และ อุปทาน) ในที่นี้หมายถึงการมองหาหุ้นเล็กที่ปริมาณการซื้อขายสูง
เพราะหุ้นขนาดเล็กที่ปริมาณการซื้อขายสูงราคาจะเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่าและเร็วกว่า (แน่นอนว่าทั้งขึ้นแลลง)
Leader or Laggard
Leader or Laggard หมายถึง เป็นผู้นำหรือเป็นผู้ตาม ซึ่งก็คือการเลือกหุ้นบริษัทที่เป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ
ในส่วนนี้อาจจะไม่ใช่หุ้นที่เป็นผู้นำอันดับ 1 แต่อาจจะเป็นหุ้นที่อยู่ในกลุ่มผู้นำของตลาดก็ได้
Institutional Sponsorship
Institutional Sponsorship แปลตรงตัวก็คือ มีนักลงทุนสถาบันเป็นสปอนเซอร์บริษัทนี้อยู่ หมายถึงการเลือกหุ้นที่นักลงทุนสถาบัน (พวกกองทุน) มักจะซื้อขาย
โดยเฉพาะหุ้นที่นักลงทุนสถาบันเพิ่งเริ่มซื้อ เพราะหลัก CANSLIM เชื่อว่าราคาจะไปต่อได้อีก เพราะนักลงทุนสถาบันจะซื้อต่ออีกเรื่อยๆ จนครบตามที่ต้องการ
ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องทำการบ้านกันเอง ทั้งการหาจังหวะเข้าซื้อและศึกษาว่านักลงทุนสถาบันซื้ออะไร
Market Direction
Market Direction หรือทิศทางของตลาดในภาพรวมต้องเป็นขาขึ้น (Uptrend) เพราะขาขึ้นทำอะไรก็ดีไปหมด ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำกำไรจากหุ้นก็คือ การเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับตลาดนั่นเอง
สังเกตได้ง่ายๆ เมื่อตลาดเป็นขาขึ้นมักจะมีกูรูหุ้นออกมาเต็มไปหมด เนื่องจากตลาดขาขึ้น (Uptrend) โอกาสที่จะทำกำไรสูงกว่ามากทำให้โอกาสพลาดค่อนข้างที่จะน้อย
สำหรับใครที่สนใจในหนังสือ How to Make Money in Stocks ของ William J. O’Neil ปัจจุบันมีฉบับแบบแปลไทยวางขายอยู่ตามร้านหนังสือหนังสือชั้นนำ