CANSLIM คืออะไร?
CANSLIM คือ วิธีการเลือกหุ้นโดยพิจารณาจาก 7 ปัจจัยที่เป็นส่วนผสมระหว่างปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) และการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) ได้แก่ Current earnings, Annual earnings, New product, Supply and Demand, Leader or laggard, Institutional Sponsorship, และ Market direction
หลัก CAN SLIM เป็นหลักในการเลือกหุ้นที่เป็นแนวคิดของ William J. O’Neil มีที่มาจากหนังสือ How to Make Money in Stocks ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2009 ซึ่งที่มาของชื่อ CANSLIM มาจากตัวอักษรย่อของทั้ง 7 ปัจจัย
โดยทั้ง 7 ปัจจัยของหลัก CAN SLIM ในการเลือกหุ้นแต่ละปัจจัยมีความหมายในเบื้องต้น ดังนี้:
- Current earnings คือมีอัตราการเติบโตของกำไรมากกว่า 25% จากปีก่อนหน้า
- Annual earnings คือกำไรมากกว่า 25% ต่อปีใน 5 ปีที่ผ่านมา
- New product คือบริษัทที่มีเรื่องใหม่และแตกต่าง
- Supply and Demand คือมีปริมาณการซื้อขายสูง
- Leader or laggard คือเลือกหุ้นที่เป็นผู้นำ
- Institutional Sponsorship คือเลือกหุ้นที่นักลงทุนสถาบันลงทุน
- Market direction คือดูทิศทางของตลาด
ทั้งนี้ สิ่งที่ทุกคนควรเข้าใจคือการที่แนวคิด CANSLIM ของ William J. O’Neil เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาจากตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่ต่างจากตลาดหุ้นไทย (ในหลาย ๆ ความหมาย) ดังนั้นสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย การเลือกหุ้นด้วยหลัก CANSLIM อาจจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพตลาด
สำหรับใครที่สนใจในหนังสือ How to Make Money in Stocks ของ William J. O’Neil ปัจจุบันมีฉบับแบบแปลไทยวางขายอยู่ตามร้านหนังสือหนังสือชั้นนำ
Current Earnings
Current Earnings หมายถึง ให้หาหุ้นในบริษัทที่มีอัตราการเติบโตของกำไรมากกว่า 25% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ อาจพิจารณาร่วมกับ Annual Earnings ในส่วนถัดไป
Annual Earnings
Annual Earnings คือ การเลือกบริษัทที่ 5 ปีล่าสุดมีกำไรต่อปีอย่างน้อย 25% ต่อปี และมีค่า ROE หรือ Return on Equity ไม่ต่ำกว่า 17%
โดยพื้นฐานแล้ว CANSLIM ในส่วนของ Current Earnings และ Annual Earnings ยิ่งสูงยิ่งดี เนื่องจากเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรของหุ้นในปัจจุบัน
New Product
New Product คือ การมองหาบริษัทที่มีสิ่งใหม่หรือสิ่งที่แตกต่างจากที่คู่แข่งมี ถ้าพูดตามหลักบริหารก็คือให้หาหุ้นบริษัทที่สินค้ามีความแตกต่างตามหลัก Differentiation
ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ เทคโนโลยีใหม่ การขยายตลาดใหม่ การเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ และแผนการดำเนินธุรกิจใหม่ เป็นต้น
Supply and Demand
Supply and Demand (อุปสงค์ และ อุปทาน) ในที่นี้หมายถึง การมองหาหุ้นเล็กที่ปริมาณการซื้อขายสูง
เพราะหุ้นขนาดเล็กที่ปริมาณการซื้อขายสูงราคาจะเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่าและเร็วกว่า (แน่นอนว่าทั้งขาขึ้นและขาลง)
Leader or Laggard
Leader or Laggard หมายถึง เป็นผู้นำหรือเป็นผู้ตาม ซึ่งก็คือการเลือกหุ้นบริษัทที่เป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ
ในส่วนนี้อาจจะไม่ใช่หุ้นที่เป็นผู้นำอันดับ 1 แต่อาจจะเป็นหุ้นที่อยู่ในกลุ่มผู้นำของตลาดก็ได้
Institutional Sponsorship
Institutional Sponsorship แปลตรงตัว คือ มีนักลงทุนสถาบันเป็นสปอนเซอร์บริษัทนี้อยู่ หมายถึงการเลือกหุ้นที่นักลงทุนสถาบัน (พวกกองทุน) มักจะซื้อขาย
โดยเฉพาะหุ้นที่นักลงทุนสถาบันเพิ่งเริ่มซื้อ เพราะหลัก CANSLIM เชื่อว่าราคาจะไปต่อได้อีก เพราะนักลงทุนสถาบันจะซื้อต่ออีกเรื่อยๆ จนครบตามที่ต้องการ
ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องทำการบ้านกันเอง ทั้งการหาจังหวะเข้าซื้อและศึกษาว่านักลงทุนสถาบันซื้ออะไร
Market Direction
Market Direction หรือทิศทางของตลาดในภาพรวมต้องเป็นขาขึ้น (Uptrend) เพราะขาขึ้นเป็นช่วงเวลาที่ทำอะไรก็ดีไปหมดและยากที่จะพลาด ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำกำไรจากหุ้นก็คือการเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับตลาดนั่นเอง
ในทางกลับกัน ขณะที่ตลาดเป็นขาลง แม้ว่าหุ้นดังกล่าวจะทำผลงานได้ดี ราคาของหุ้นนั้นก็อาจไม่เปลี่ยนแปลงจากความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อสภาพตลาด ณ ขณะนั้น
เช่นเดียวกันกับการที่เมื่อตลาดเป็นขาขึ้นมักจะมีกูรูหุ้นออกมาเต็มไปหมด เนื่องจากตลาดขาขึ้น (Uptrend) โอกาสที่จะทำกำไรสูงกว่ามากทำให้โอกาสพลาดค่อนข้างที่จะน้อย