GreedisGoods » Investment » Carry Trade คืออะไร? มีหลักการและวิธีอย่างไร

Carry Trade คืออะไร? มีหลักการและวิธีอย่างไร

by Kris Piroj
Carry Trade คือ การลงทุน Carry Trade คืออะไร แครี่เทรด ข้อดี ข้อเสีย

Carry Trade คือ การลงทุนโดยการกู้เงินจากสกุลเงินของประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า แล้วเคลื่อนย้ายเงินจำนวนที่กู้มาไปลงทุนในอีกประเทศที่ให้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนสูงกว่า ทำให้มีโอกาสทำกำไรมากขึ้นจากผลตอบแทนของตลาดที่สูงกว่า และได้เปรียบในด้านต้นทุนทางการเงินจากดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าของเงินกู้ อีกทั้งยังมีโอกาสทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

อธิบายแบบง่ายๆ Carry Trade คือ การลงทุนที่ใช้โอกาสจากต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าไปลงทุนในตลาดที่ให้ผลตอบแทนง่ายกว่า รวมถึงยังมีโอกาสทำกำไรเพิ่มเติมเป็นโบนัสจากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อย้ายเงินลงทุนกลับ ในปัจจุบันหลักทรัพย์ที่ได้รับความนิยมในการ Carry Trade ของนักลงทุนสถาบัน คือ ตราสารหนี้อย่างพันธบัตร และหุ้นในตลาดหุ้น

ตัวอย่างเช่น กองทุน CarryUSD ทำ Carry Trade ด้วยการกู้เงินดอลลาร์จากสหรัฐอเมริกาด้วยอัตราดอกเบี้ย 2% และเคลื่อนย้ายเงินจำนวนดังกล่าวมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5%

จากตัวอย่าง ถึงแม้ว่ากองทุน CarryUSD ลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำสุดที่ให้ผลตอบแทนเท่ากับอัตราดอกเบี้ย การลงทุนด้วยวิธี Carry Trade ของกองทุนก็ยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 3% อยู่ดีจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยที่ได้จากการลงทุน (5% – 2% = ส่วนต่าง 3%)

การที่ประเทศมีเม็ดเงินจากการ Carry Trade เข้าไปลงทุน จะทำให้ปริมาณความต้องการสกุลเงินของประเทศนั้นสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต้องแลกเงิน (ที่กู้มา) เป็นเงินของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน ซึ่งการ Carry Trade มักจะมีมูลค่าที่สูงในระดับพันล้านหรือหมื่นล้าน ทำให้ปริมาณความต้องการเงินเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินแข็งค่า

ในทางกลับกันการย้ายเงินกลับประเทศของนักลงทุนหลังจากนักลงทุนทำกำไรได้ตามต้องการแล้ว ก็สามารถทำให้เงินอ่อนค่าได้เช่นกัน ด้วยเหตุผลตรงข้ามคือ นักลงทุนต้องการเปลี่ยน (ขาย) เงินสกุลที่แลกมาในตอนแรกเป็นจำนวนมากกลับไปเป็นสกุลที่กู้มา (จากตัวอย่างเมื่อตอนแรกสุด คือ เปลี่ยนกลับจากเงินบาทไปเป็นดอลลาร์สหรัฐ)

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงินแข็งและเงินอ่อนแบบละเอียดได้ที่บทความ เงินแข็งและเงินอ่อน คืออะไร?

อะไรส่งผลกับ Carry Trade บ้าง

ถึงแม้ว่า Carry Trade คือ การกู้เงินจากสกุลเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าแล้วไปลงทุนในประเทศที่ให้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่เหมือนจะไม่ซับซ้อนอะไร แต่จริงๆ แล้วการ Carry Trade ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณามากกว่าอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate)

เพราะการเคลื่อนย้ายเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ทำให้นักลงทุนจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับ อัตราแลกเปลี่ยน การแลกเงิน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน กฎหมายการลงทุน และมูลค่าของเงินในประเทศที่เข้าไปลงทุน มาดูกันว่าการทำ Carry Trade (ที่ไม่ใช่ Carry Trade Forex) ในเบื้องต้นต้องพิจารณาอะไรบ้างและอะไรคือความเสี่ยง

ความยากง่ายในการกู้เงินสกุลนั้น เพราะอย่างที่บอกว่าขั้นแรกของ Carry Trade คือ การกู้เงินไปลงทุนในต่างประเทศ

ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน จากทั้งสกุลเงินที่จะกู้และสกุลเงินที่จะเข้าไปลงทุน เพราะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอาจทำให้ได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมาก หรืออาจจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจนไม่เหลือกำไรจากการลงทุนก็ได้

ต้นทุนในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งในที่นี้คือ Spread และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกิดจากการแลกเงินสกุลหนึ่งไปเป็นเงินอีกสกุลหนึ่ง

Real Interest Rate (อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง) คือ การลบอัตราเงินเฟ้อออกจากอัตราดอกเบี้ย (เช่น ดอกเบี้ย 10% – เงินเฟ้อ 8%  = ดอกเบี้ยที่แท้จริง 2%) เพราะถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยของประเทศที่เข้าไปลงทุนจะสูงจริง แต่ถ้าหากประเทศนั้นเงินเฟ้อสูงก็อาจทำให้ ท้ายที่สุดผลตอบแทนของ 2 ประเทศไม่ได้ต่างกันมาก

เพื่อความเข้าใจแนะนำให้อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Real Interest Rate ได้ที่บทความ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือ Real Interest Rate คืออะไร?

โอกาสของ Carry Trade คืออะไร?

เมื่อเข้าใจการทำงานและความเสี่ยงของ Carry Trade แล้วจะเห็นว่า การทำ Carry Trade คือการลงทุนที่มีโอกาสทำกำไรได้จาก 2 ส่วน คือ

  1. การทำกำไรจากการลงทุนตามปกติ ซึ่งมีโอกาสกำไรได้มากกว่าตลาดของประเทศที่กู้เงินมา (จากส่วนต่างของผลตอบแทนระหว่าง 2 ประเทศ)
  2. กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่เกิดขึ้นจากการแลกเงินลงทุน

หรือพูดแบบง่ายๆ ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของ Carry Trade คือ การที่กู้เงินสกุล A แล้วแลกเป็นเงินสกุล B ในช่วงที่เงินสกุล B อ่อนค่าที่สุด > จากนั้นนำเงินสกุล B ไปลงทุนในประเทศ B ตามปกติ > แล้วแลกเงินสกุล B กลับมาเป็นเงินสกุล A ในช่วงที่เงินสกุล B แข็งค่าที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง