วงจรเงินสด คือ รอบระยะเวลาตั้งแต่กิจการได้สินค้ามา ขายสินค้าออกไป จนได้เงินจากลูกค้าที่ซื้อสินค้า โดยวงจรเงินสด (Cash Cycle) เป็นเครื่องมือวัดความสามารถในการหมุนเงินของธุรกิจ สามารถคำนวณได้จาก ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ – ระยะเวลาจ่ายหนี้
โดยวงจรเงินสด (Cash Cycle) จะเกี่ยวข้องกับอัตราส่วนทางการเงิน 3 อัตราส่วน ได้แก่
- ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Average Inventory Period)
- ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย (Average Collection Period)
- ระยะเวลาจ่ายหนี้เฉลี่ย (Average Payment Period)
วงจรเงินสด (Cash Cycle) = ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ – ระยะเวลาจ่ายหนี้
ซึ่งการที่วงจรเงินสด (Cash Cycle หรือ Cash Conversion Cycle) เป็นระยะเวลาตั้งแต่กิจการได้รับสินค้ามาจนขายสินค้าออกไปและได้เงินกลับมา ทำให้วงจรเงินสดหรือ Cash Cycle ยิ่งมีค่าต่ำยิ่งดีต่อสภาพคล่องของกิจการ
Cash Cycle ที่ต่ำหมายความว่า ธุรกิจจะได้รับเงินกลับมาใช้ในการสั่งซื้อหรือผลิตสินค้าในรอบต่อไปได้เร็ว และในทางกลับกัน Cash Cycle ที่ยิ่งสูงยิ่งหมายความว่ายิ่งใช้เวลานานในการได้รับเงินกลับมาใช้สำหรับรอบต่อไปเท่านั้น
เพราะวงจรเงินสด (Cash Cycle) เป็นระยะเวลาที่ธุรกิจจะได้รับเงินกลับมาจากการขายสินค้า ดังนั้นการได้รับเงินกลับมาช้าอาจทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจต้องกู้เงินมาเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในระหว่างนั้น จนทำให้ธุรกิจมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ย
วิธีคำนวณวงจรเงินสด
การคำนวณวงจรเงินสด (Cash Cycle) สามารถคำนวณได้จาก ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ – ระยะเวลาจ่ายหนี้ โดย Cash Cycle หรือวงจรเงินสด จะเขียนเป็นสมการได้ว่า:
วงจรเงินสด (Cash Cycle) = ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ – ระยะเวลาจ่ายหนี้
ค่าที่ได้จากการคำนวณหาวงจรเงินสดควรจะเป็นค่าต่ำ ที่แสดงถึงระยะเวลาวงจรเงินสดที่สั้น โดยในการวิเคราะห์งบการเงินจะนำวงจรเงินสดไปเปรียบเทียบกับบริษัทคู่แข่ง, ค่าเฉลี่ยของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน, หรือเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานในอดีต
ค่าที่น้อยกว่า (น้อยวัน) หมายถึง การที่กิจการสามารถขายสินค้าและเก็บหนี้ได้เร็วกว่าจ่ายหนี้ ซึ่งแสดงถึงสภาพคล่องของกิจการที่สูง (มีเงินหมุนตลอด)
ค่าที่มากกว่า (หลายวัน) หมายถึง กิจการสามารถขายสินค้าและเก็บหนี้ได้ช้ากว่าการจ่ายหนี้ ทำให้กิจการมีสภาพคล่องต่ำ
และถ้าหากสังเกตจากสมการวงจรเงินสด (Cash Cycle) จะพบว่าวิธีทำให้วงจรเงินสด (Cash Cycle) น้อย สามารถทำได้ทั้งหมด 3 วิธี คือ
ระยะเวลาขายสินค้าต่ำ (ขายให้ไว)
การทำให้ระยะเวลาขายสินค้าต่ำ คือ การขายสินค้าให้ได้ไวที่สุด หรือใช้เวลาน้อยวันที่สุดในการขายสินค้าออกไป
โดยสามารถทำได้ด้วยการบริหารสินค้าคงคลัง เช่น ไม่สั่งสินค้ามาเก็บไว้เป็นจำนวนมากเกินไป มีการบันทึกสถิติว่าสินค้าชนิดไหนขายได้และสินค้าชนิดไหนขายออกช้าเพื่อการคำนวณปริมาณการผลิตหรือปริมาณการสั่งซื้อ เป็นต้น
ระยะเวลาเก็บหนี้ต่ำ (เก็บหนี้ให้ไว)
การทำให้ระยะเวลาเก็บหนี้ต่ำ คือ การเก็บหนี้ให้ไวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
อย่าให้ Credit Term กับลูกหนี้การค้านานเกินไป (เพราะเราต้องใช้เงินที่ได้ไปหมุนทำอย่างอื่น) หรือจูงใจให้ลูกหนี้การค้าชำระเงินสดเร็วขึ้นด้วยเงื่อนไขส่วนลดเงินสด (Cash Discount)
ระยะเวลาจ่ายหนี้สูง (จ่ายหนี้ให้ช้า)
การทำให้ระยะเวลาจ่ายหนี้สูง คือ การจ่ายหนี้ให้ช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยการยื้อเอาไว้นาน ๆ เท่าที่จะทำได้
ในกรณีที่กิจการของเราเครดิตดีน่าเชื่อถือหรือมีอำนาจต่อรองกับ Supplier ที่สูง กิจการก็จะสามารถขอ Credit Term ที่นานได้