วงจรเงินสด คืออะไร?
วงจรเงินสด คือ รอบระยะเวลาตั้งแต่กิจการได้สินค้ามา ขายสินค้าออกไป จนได้เงินจากลูกค้าที่ซื้อสินค้า โดยวงจรเงินสด (Cash Cycle) เป็นเครื่องมือวัดความสามารถในการหมุนเงินของธุรกิจ เพราะวงจรเงินสดคือสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่กิจการลงทุนไปจนได้เงินกลับมา
การที่วงจรเงินสด (Cash Cycle หรือ Cash Conversion Cycle) เป็นระยะเวลาตั้งแต่กิจการได้รับสินค้ามาจนขายสินค้าออกไป และได้รับเงินกลับมา ทำให้วงจรเงินสดยิ่งมีค่าต่ำยิ่งดีต่อสภาพคล่องของกิจการ เพราะค่าที่ได้จากการคำนวณวงจรเงินสดที่ต่ำกว่า หมายความว่า ธุรกิจจะได้รับเงินกลับมาใช้ในการสั่งซื้อหรือผลิตสินค้าในรอบต่อไปได้เร็ว
ในทางกลับกันวงจรเงินสดที่ยิ่งสูง (ยาวนานกว่า) ยิ่งหมายความว่า ยิ่งใช้เวลานานในการได้รับเงินกลับมาใช้สำหรับรอบต่อไปมากเท่านั้น ดังนั้น การได้รับเงินกลับมาช้าอาจทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจต้องกู้เงินมาเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในระหว่างนั้น จนทำให้ธุรกิจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากภาระดอกเบี้ย
วิธีคำนวณวงจรเงินสด (Cash Cycle)
Cash Cycle หรือ วงจรเงินสด จะสามารถคำนวณได้จากสมการ: วงจรเงินสด (Cash Cycle) = ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ – ระยะเวลาจ่ายหนี้
จากสมการวงจรเงินสด จะเห็นว่าวงจรเงินสดเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอัตราส่วนทางการเงิน 3 อัตราส่วน ได้แก่ ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Average Inventory Period), ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย (Average Collection Period), และระยะเวลาจ่ายหนี้เฉลี่ย (Average Payment Period)
ระยะเวลาขายสินค้า (Average Inventory Period) คือ ระยะเวลาเฉลี่ยที่กิจการเก็บสินค้าเอาไว้จนกว่าจะขายได้ การที่ระยะเวลาขายสินค้ายิ่งต่ำ ยิ่งหมายถึงบริษัทสามารถขายสินค้าออกได้ไวไม่ต้องเก็บสินค้าไว้นาน
- ระยะเวลาขายสินค้า (Average Inventory Period) = 365 ÷ อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ
ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย (Average Collection Period) คือ ระยะเวลาเฉลี่ยที่บริษัทใช้ในการเก็บหนี้จากลูกหนี้การค้าจากการให้ Credit Term การที่ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ยยิ่งต่ำ ยิ่งหมายถึงบริษัทได้รับเงินสดเร็ว
- ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย (Average Collection Period) = 365 ÷ อัตราหมุนเวียนลูกหนี้การค้า
ระยะเวลาจ่ายหนี้เฉลี่ย (Average Payment Period) คือ ระยะเวลาเฉลี่ยที่บริษัทใช้ในการจ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้การค้า ระยะเวลาจ่ายหนี้ที่ยิ่งสูงหมายความว่าบริษัทยิ่งเก็บเงินสดเอาไว้ได้นาน
- ระยะเวลาจ่ายหนี้เฉลี่ย (Average Payment Period) = 365 ÷ อัตราหมุนเวียนเจ้าหนี้การค้า
ค่าที่ได้จากการคำนวณหาวงจรเงินสดควรจะเป็นค่าต่ำ ที่แสดงถึงระยะเวลาวงจรเงินสดที่สั้น ซึ่งในการวิเคราะห์งบการเงินจะนำวงจรเงินสดไปเปรียบเทียบกับบริษัทคู่แข่ง, ค่าเฉลี่ยของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน, หรือเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานในอดีต เนื่องจากในอุตสาหกรรมที่ต่างกันจะมีระยะเวลาในการขายสินค้า เก็บเงิน และจ่ายหนี้ที่ไม่เท่ากัน
วงจรเงินสดมีค่าที่น้อยกว่า (น้อยวัน) หมายถึง การที่กิจการสามารถขายสินค้าและเก็บหนี้ได้เร็วกว่าจ่ายหนี้ ซึ่งแสดงถึงสภาพคล่องของกิจการที่สูง (มีเงินหมุนเวียนตลอด)
วงจรเงินสดมีค่าที่มากกว่า (หลายวัน) หมายถึง การที่กิจการสามารถขายสินค้าและเก็บหนี้ได้ช้ากว่าการจ่ายหนี้ ทำให้กิจการมีสภาพคล่องต่ำ
วิธีทำให้วงจรเงินสดมีค่าต่ำ
หากสังเกตจากสมการวงจรเงินสด (Cash Cycle) จะพบว่าวิธีทำให้วงจรเงินสด (Cash Cycle) น้อย สามารถทำได้ทั้งหมด 3 วิธี คือ
ระยะเวลาขายสินค้าต่ำ (ขายให้ไว) ด้วยการขายสินค้าให้ได้ไวที่สุด หรือใช้เวลาน้อยวันที่สุดในการขายสินค้าออกไป โดยสามารถทำได้ด้วยการบริหารสินค้าคงคลัง อย่างเช่น การที่ไม่สั่งสินค้ามาเก็บไว้เป็นจำนวนมากเกินไป มีการบันทึกสถิติว่าสินค้าชนิดไหนขายได้และสินค้าชนิดไหนขายออกช้าเพื่อการคำนวณปริมาณการผลิตหรือปริมาณการสั่งซื้อ เป็นต้น
ระยะเวลาเก็บหนี้ต่ำ (เก็บหนี้ให้ไว) ด้วยการเก็บหนี้ให้ไวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และอย่าให้ Credit Term กับลูกหนี้การค้านานเกินไป (เพราะกิจการที่ให้ Credit Term เองก็จำเป็นต้องใช้เงินที่ได้ไปหมุนทำอย่างอื่น) หรือจูงใจให้ลูกหนี้การค้าชำระเงินสดเร็วขึ้นด้วยเงื่อนไขส่วนลดเงินสด (Cash Discount)
ระยะเวลาจ่ายหนี้สูง (จ่ายหนี้ให้ช้า) ด้วยการจ่ายหนี้ให้ช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในส่วนนี้ในกรณีที่กิจการของเราเครดิตดีน่าเชื่อถือหรือมีอำนาจต่อรองกับ Supplier ที่สูงก็จะสามารถขอ Credit Term ที่นานได้
ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก: SETInvestnow, Finnomena