Circuit Breaker คืออะไร?
Circuit Breaker คือ การหยุดการซื้อขายชั่วคราวของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตลาดหุ้นในแต่ละประเทศจะมีเงื่อนไขของหยุดการซื้อขายหุ้นต่างกันออกไป แต่มีจุดประสงค์ของ Circuit Breaker ที่เหมือนกันคือการหยุดการซื้อขายชั่วคราวเมื่อตลาดเกิดความผันผวนอย่างมากเพื่อให้นักลงทุนได้ทบทวน
เนื่องจาก โดยทั่วไปการที่ตลาดจะลบรุนแรงมากจนทำให้เกิดการใช้มาตรการ Circuit Breaker ของตลาดหุ้น ส่วนมากจะเกิดจากสาเหตุบางอย่างที่เป็นเรื่องใหญ่ เช่น ข่าวร้ายที่เป็นผลต่อความมั่นคงของประเทศหรือเศรษฐกิจอย่างมาก และวิกฤตการเงิน จนทำให้ดัชนีหุ้น (Composite Index) ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง
ดังนั้น เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อการลงทุนเหล่านั้นอย่างครบถ้วนและถูกต้อง เพื่อที่นักลงทุนจะได้ไม่ซื้อขายหุ้นกันอย่างตื่นตระหนก ตลาดหลักทรัพย์จึงใช้มาตรการ Circuit Breaker เข้ามาแทรกแซงด้วยการหยุดการซื้อขายหุ้นชั่วคราว
เงื่อนไข Circuit Breaker หุ้น
เงื่อนไข Circuit Breaker หุ้นไทยที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จะเกิดขึ้นได้เมื่อดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวลดลงถึงตามเงื่อนไข โดยจะแบ่งการ Circuit Breaker ออกเป็น 3 ครั้ง ดังนี้:
- ครั้งที่ 1 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลง -8% ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า (เมื่อวาน) ตลาดจะพักการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นระยะเวลา 30 นาที
- ครั้งที่ 2 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลง -15% (ลดลงอีก 7%) ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า (เมื่อวาน) จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นระยะเวลา 30 นาที
- ครั้งที่ 3 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลง -20% (ลดลงอีก 5%) ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า (เมื่อวาน) จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมง
หลังจากครั้งที่ 3 ของ Circuit Breaker ซึ่งก็คือครั้งที่ 4 เป็นต้นไป ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเปิดให้ทำการซื้อขายต่อไปตามปกติ ไม่มีการหยุดพักการซื้อขายอีกแม้ว่าตลาดจะลงต่อ
ในกรณีที่ระยะเวลาในรอบการซื้อขายที่ Circuit Breaker หุ้น ทำงานนั้นเหลือไม่ถึง 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง จะให้หยุดพักการซื้อขายเพียงระยะเวลาที่เหลืออยู่ของรอบการซื้อขายนั้น แล้วจะเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ได้ตามปกติในรอบการซื้อขายถัดไป (หรือวันต่อไป)
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ยังไม่เคยมีการ Circuit Breaker ถึง 2 ครั้งติดกันในวันเดียวกันมาก่อน
ในอดีตมาตรการ Circuit Breaker ของตลาดหุ้นไทยจะแบ่งออกเป็น 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง -10% และ ครั้งที่ 2 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง -20% (ลดลงอีก 10%) และหลังจากครั้งที่ 3 เป็นต้นไปจะเปิดให้ทำการซื้อขายต่อไปตามปกติ ไม่มีการหยุดพักการซื้อขายอีกต่อไป
ตลาดหุ้นไทย Circuit Breaker มาแล้วกี่ครั้ง
การหยุดการซื้อขายชั่วคราวด้วยมาตรการ Circuit Breaker ตลาดหุ้นไทยเคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้ง (นับจนถึงวันที่ 28 เมษายน 2566) ได้แก่
ครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 โดยดัชนี SET Index ติดลบ 74.06 จุด (-10.14%) ทำให้ต้องหยุดการซื้อขายไป 30 นาที
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2551 ซึ่งดัชนี SET Index ติดลบ 50.08 จุด (-10.02%) ทำให้ต้องหยุดการซื้อขายไปทั้งหมด 30 นาที
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551 ดัชนี SET Index ติดลบ 43.29 จุด (-10%) ทำให้ตลาดต้องหยุดการซื้อขายเป็นระยะเวลา 30 นาที
ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ดัชนี SET Index ติดลบ 125.05 จุด (-10%) หยุดการซื้อขายชั่วคราว 30 นาที ตั้งแต่เวลา 14.39 น. – 15.09 น. เป็นการ Circuit Breaker ครั้งแรกของตลาดหุ้นไทยในรอบ 11 ปี 4 เดือน นับตั้งแต่วิกฤต Subprime ปี 2008

ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 ตลาดหุ้นไทยเปิดตลาดมาด้วยดัชนี -111.52 จุด (-10%) ส่งผลให้การหยุดการซื้อขายชั่วคราวหรือ Circuit Breaker ตลาดหุ้นไทยทำงานทันทีที่เปิดตลาด ซึ่งนับว่าเป็นการ Circuit Breaker ติดกัน 2 วันครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย
ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ตลาดหุ้นไทยประกาศหยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราวตั้งแต่เวลา 15.25 – 15.55 น. หลังจากดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวลดลง 90.19 จุด (-8%) โดยครั้งนี้ถือเป็นการใช้มาตรการ Circuit Breaker ครั้งแรกของตลาดหุ้นไทยหลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ปรับเกณฑ์ Circuit Breaker ครั้งล่าสุด
นอกจากการหยุดการซื้อขายทั้งตลาดหุ้นแล้ว ยังมีในกรณีของการหยุดซื้อขายหุ้นรายหุ้นจากการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขึ้นเครื่องหมาย H หรือ Halt ท้ายชื่อหุ้น ซึ่งจะทำให้หุ้นดังกล่าวไม่สามารถซื้อขายได้จนกว่าเครื่องหมาย H (Halt) ท้ายชื่อหุ้นจะหายไป