ทำความรู้จักกับ Clickbait มาดูกันว่า Clickbait คืออะไร? การตลาดแบบ Clickbait และวิธีรับมือกับ ClickBait ในฝั่งผู้ใช้งาน
Clickbait คืออะไร?
Clickbait คือ การล่อให้ผู้ใช้คลิ๊กลิงค์เข้ามาตามชื่อ ซึ่งในปัจจุบันคำว่า Clickbait อาจมีความหมายรวมถึงการล่อให้กดหรือล่อให้เข้ามาอ่านบทความยาวบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยหลักการที่เว็บไซต์หรือ Content ประเภทคลิกเบทคือการใช้ชื่อบทความ พาดหัว หรือภาพหน้าปก (Thumbnail) ที่ดึงดูดด้วยสิ่งที่ไม่น่าเชื่อหรือเกินความเป็นจริง
โดยมีเป้าหมายให้ผู้อ่านที่เห็นชื่อบทความ พาดหัว และภาพปกของเรื่องดังกล่าวต้องรีบกดเข้ามาดู และแน่นอนว่าเมื่อกดเข้ามาก็จะพบว่าไม่มีอะไรหรือไม่ใช่เรื่องใหญ่เหมือนพาดหัว Clickbait ที่เห็น
หรือแม้กระทั่งการสร้างข่าวปลอมขึ้นมาว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นแบบน่าเหลือเชื่อ เช่น นาย A เสียชีวิต เพื่อหลอกล่อให้ผู้ใช้กดเข้าไปที่เว็บไซต์เหล่านั้น
ตัวอย่างการพาดหัวแบบ Clickbait เช่น “คุณจะต้องทึ่ง!! กับสิ่งที่ชายคนนี้ทำมาตลอด 10 ปี จนทำให้เค้ามีสิ่งนี้” เมื่อกดเข้าไปแล้วพบว่าเป็นคนวัยทำงานเก็บเงินสดซื้อรถได้ใน 10 ปี
เป้าหมายของการ Clickbait
วิธี Clickbait เหล่านี้จะใช้ได้ดีบน Social Media เนื่องจากตามปกติบทความ Clickbait เหล่านี้มักเป็นข่าวหรือเรื่องราวที่เป็นกระแสในสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ดี ๆ แล้วคนจะค้นหาเองผ่าน Google โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้งานที่ขาดความรู้และความเท่าทันในเรื่องเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม การ Clickbait ก็ยังสามารถใช้ได้ดีกับเป้าหมายทุกกลุ่มเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นผู้ใช้ที่ดูเหมือนจะรู้เท่าทันก็ตาม เพียงแต่ในกรณีนี้จะสามารถใช้ได้ในบางโอกาสและในบางประเด็นเท่านั้น ซึ่งมักจะเป็นประเด็นต่อดังนี้:
- ความรู้ที่สังคมกำลังให้ความสนใจ (เช่น เรื่องของภาษีน้ำตาลในช่วงที่รัฐบาลมีการเก็บภาษีความหวาน)
- ความโกรธของคนส่วนใหญ่ในสังคม
- ข่าวที่สังคมให้ความสนใจในวงกว้าง (เช่น การเลือกตั้ง)
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใด เป้าหมายของการ Clickbait คือ การที่ต้องการให้คนเข้ามาในเว็บเยอะ ๆ โดยเน้นเพียงปริมาณแต่ไม่สนใจคุณภาพของผู้ใช้งานว่าจะเข้ามาทำอะไร (จะไม่อ่าน จะไม่ซื้อก็ไม่เป็นอะไร) เมื่อมีคนเข้ามาโฆษณาก็จะถูกแสดงหรือถูกกด ซึ่งเป็นรายได้ของเว็บพวกนี้ หรือในกรณีของ Social Media การ Clickbait จะช่วยให้ผู้ใช้งานเข้ามามี Engagement หรือการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานกับโพสดังกล่าว
ดังนั้น การใช้วิธี Clickbait จึงสามารถพบได้บ่อยใน Content ที่ไม่ได้ต้องการให้ผู้ติดตามทำอย่างอื่นนอกจากกดเข้ามาดู/เข้ามาอ่าน อย่างเช่น YouTuber ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากและผู้ติดตามเป็นกลุ่มผู้ใช่ที่ไม่ใส่ใจกับการ Clickbait, เว็บ Clickbait ที่เน้นล่อให้ผู้ใช้กดเข้ามาเป็นหลัก, และการใช้ประโยชน์จากปริมาณผู้เข้าชมเว็บไซต์ในการทำ SEO หรือ Search Engine Optimization
หลีกเลี่ยงการ Clickbait ได้อย่างไร
การ Clickbait พบได้บ่อยบน Social Media อย่าง Facebook และ YouTube ได้บ่อยที่สุด ดังนั้นถ้าหากต้องการหลีกเลี่ยงการ Clickbait คุณสามารถทำได้ 2 วิธีคือ การไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเนื้อหา Clickbait และการซ่อนโพสจากต้นทาง
การไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเนื้อหา Clickbait คือการไม่กดเข้าไปดู ไม่กดชอบ ไม่แสดงความคิดเห็น ไม่กดอ่านความเห็น และไม่ติดตามในเรื่องที่มักจะเป็น Clickbait อย่างเช่น ข่าวดารา และข่าวชาวบ้าน เพราะเดิมที Algorithm ของ Social Media เหล่านี้จะยิ่งแสดงสิ่งที่คุณสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นถ้าหากไม่อยากเห็นอะไรก็อย่ายุ่งเกี่ยวกับสิ่งนั้น
สำหรับอีกวิธีคือ การซ่อนโพสจากต้นทาง ด้วยการ “Hide Post” ที่ไม่ต้องการเห็น, “Hide all from เพจที่คุณไม่ได้ติดตามแต่เพื่อนแชร์มา”, และ “Report Post” สำหรับข้อมูลเท็จด้วยเหตุผล “False Information” หรืออื่น ๆ ตามที่คุณเห็นสมควร
