CLMV คืออะไร?
CLMV คือ กลุ่มประเทศที่ประกอบไปด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา (Cambodia) ลาว (Laos) เมียนมาร์ (Myanmar) และเวียดนาม (Vietnam) ซึ่งทั้ง 4 ประเทศเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ที่มีเส้นทางในการคมนาคมติดต่อกัน
คำว่า CLMV ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2546 โดยเป็นส่วนหนึ่งของความคิดริเริ่ม “อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ซึ่งเปิดตัวโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการบูรณาการระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่มีแม่น้ำโขงร่วมกัน
ต่อมาในภายหลัง CLMV ได้มีการรวมประเทศไทย (Thailand) เพิ่มเข้ามาเป็นประเทศที่ 5 กลายเป็น CLMVT เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคและอนุภูมิภาคดังกล่าว อีกทั้งยังมีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับอีก 4 ประเทศในกลุ่มดังกล่าว
ในภาพรวมกลุ่มประเทศ CLMV คือกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุดในภูมิภาค และต่างประสบกับปัญหาการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศ CLMV ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากนักลงทุนและธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของภูมิภาคในฐานะของ Emerging Markets และ Frontier Markets และประชากรวัยหนุ่มสาวที่เพิ่มขึ้นของประเทศกลุ่มนี้
ทำไม CLMV ได้รับความสนใจ
ศักยภาพทางเศรษฐกิจ: กลุ่มประเทศ CLMV มีประชากรรวมกันกว่า 175 ล้านคน และกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรนี้กำลังผลักดันความต้องการสินค้าและบริการ และสร้างโอกาสใหม่สำหรับธุรกิจและนักลงทุน ทั้งนี้ประเทศในกลุ่ม CLMV ในปัจจุบันยังต้องอาศัยสินค้านำโดยเฉพาะจากประเทศไทย (และประเทศจีน) ซึ่งที่ผ่านมาผลตอบรับของสินค้าไทยถูกมองว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและคุ้มราคากว่าสินค้าจีน
ทรัพยากรธรรมชาติ: ในอนุภูมิภาค CLMV ยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเช่น แร่ธาตุ น้ำมัน และก๊าซ ในขณะที่ภาคการผลิตกำลังเติบโต
ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์: กลุ่มประเทศ CLMV ตั้งอยู่ใจกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญมากขึ้นในด้านการค้า การลงทุน และภูมิรัฐศาสตร์ โดยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ทางแยกของเส้นทางเดินเรือที่คับคั่งที่สุดในโลก และเชื่อมต่อกับตลาดหลัก ๆ ของเอเชีย

การบูรณาการและความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ: กลุ่มประเทศ CLMV มีความเกี่ยวข้องกัลความร่วมมือทางเศรษฐกิจผ่านโครงการ อย่างเช่น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของภาคธุรกิจและผู้บริโภคในภูมิภาค
กล่าวคือ โดยพื้นฐานความสนใจต่อประเทศในกลุ่ม CLMV คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ CLMV มีความน่าสนใจในประเด็นด้านภูมิศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ การเติบโตของประชากรที่หมายถึงแรงงาน ผู้บริโภค และกำลังซื้อกำลังขยายตัว ในขณะต้นทุนการผลิตในการผลิตสินค้าในประเทศในกลุ่มนี้ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่
นอกจากนี้ ในมุมมองของนักลงทุนจากไทย CLMV ยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีข้อได้เปรียบจากทั้งด้านสิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ ความสะดวกของการคมนาคมที่อยู่รอบไทยผ่านการขนส่งทางบก และจากการที่วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในกลุ่มประเทศ CLMV และ CLMVT ไม่ได้ต่างกันมากนัก ทำให้นักลงทุนไม่ต้องปรับตัวมากนักกับพฤติกรรมผู้บริโภค
ความเสี่ยงของประเทศในกลุ่ม CLMV
สภาพแวดล้อมทางการเมืองและกฎหมาย: สภาพแวดล้อมทางการเมืองและกฎหมายอาจมีผลกระทบอย่างมากต่อการลงทุนในประเทศ CLMV สิ่งสำคัญคือต้องศึกษาสถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงในประเทศ ตลอดจนกรอบกฎหมายในการดำเนินธุรกิจ เช่น กฎหมายภาษี กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ไปจนถึงความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นจากเข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านั้น
สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ: สิ่งสำคัญคือต้องสำรวจสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของประเทศที่เข้าไปลงทุน รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ อย่างเช่น อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เสถียรภาพราคา และระดับการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนสถานะของโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่ง เครือข่ายโทรคมนาคม แะการเข้าถึงสาธารณูปโภค อย่างเช่น ไฟฟ้าและน้ำของประชาชน
ศักยภาพของตลาด: แม้ว่าปัจจัยเรื่องศักยภาพของตลาดหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญและทำให้ CLMV ได้รับความสนใจ แต่ตลาดของประเทศในกลุ่ม CLMV ในหลายตลาดยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้นเมื่อเทียบกับตลาดในประเทศพัฒนาแล้วและ Emerging Markets กล่าวคือมีสินค้าบางประเทศที่ผู้บริโภคเปิดรับ ในขณะที่สินค้าบางประเภทยังเร็วเกินไปที่จะเข้าไปขายในกลุ่มประเทศ CLMV