สินค้าโภคภัณฑ์ คืออะไร?
สินค้าโภคภัณฑ์ คือ สินค้าประเภทที่มีลักษณะเหมือนกันทั้งหมดทั่วโลกหรือต่างกันเพียงเล็กน้อยในระดับที่แยกได้ยาก ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) เป็นสินค้าที่ทั้งโลกมีมาตรฐานเดียวกัน ส่งผลให้ไม่ว่าสินค้าโภคภัณฑ์นั้นจะมาจากไหนก็มีราคาที่ไม่ต่างกันมาก
ตัวอย่าง สินค้าโภคภัณฑ์ ที่พบและถูกกล่าวถึงบ่อย ได้แก่ น้ำมันดิบ ทองคำ ยางพารา ถ่านหิน ข้าว น้ำตาล ข้าวโพด น้ำ โลหะเงิน และทองแดง เป็นต้น
โดยความสำคัญของสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) คือการที่สินค้าโภคภัณฑ์มักจะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบ (Materials) ในการผลิตสินค้าประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร รถยนต์ โทรศัพท์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงการก่อสร้าง
ส่งผลให้ปริมาณความต้องการของสินค้าโภคภัณฑ์มักจะสูงและมีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก ความต้องการจากสายการผลิตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุผลที่สินค้าโภคภัณฑ์จำเป็นที่จะต้องมีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Future) และผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ เพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงจากราคาที่ไม่แน่นอนของสินค้าเหล่านี้ในระยะยาว และใช้ในการทำให้แน่ใจว่าจะได้รับสินค้าเมื่อต้องการแม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น
ทั้งนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities Goods) ในเบื้องต้นสามารถแบ่งประเภท ได้เป็น 2 ประเภท คือ Hard Commodities และ Soft Commodities ตามลักษณะพื้นฐานของสินค้าโภคภัณฑ์
- Hard Commodities คือ สินค้าโภคภัณฑ์จากธรรมชาติ สินค้าโภคภัณฑ์ประเภท Hard Commodity ได้แก่ ถ่านหิน ทองคำ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่อื่นๆ
- Soft Commodities คือ สินค้าโภคภัณฑ์ที่เกิดจากการผลิตของมนุษย์ สินค้าโภคภัณฑ์ประเภท Soft Commodity ได้แก่ ยางพารา และผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ
Commodities Goods มีกี่ประเภท?
การแบ่งประเภทของสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ยังสามารถแบ่งประเภทตามกลุ่มของสินค้าโภคภัณฑ์ได้อีกด้วย โดยสามารถแบ่งประเภทของสินค้าโภคภัณฑ์ได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
- สินค้าเกษตร (Agricultural)
- สินค้าพลังงาน (Energy)
- โลหะอุตสาหกรรม (Industrial Metals)
- สินค้าปศุสัตว์ (Livestock)
- โลหะมีค่า (Precious Metals)
สินค้าโภคภัณฑ์เกษตร (Agricultural)
สินค้าโภคภัณฑ์เกษตร (Agricultural) คือ สินค้าทางการเกษตร โดยสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มนี้เกินครึ่งปลายทางคือการนำไปใช้ผลิตอาหารทั้งคนและสัตว์
สินค้าโภคภัณฑ์เกษตร (Agricultural) ที่สามารถพบได้บ่อย ได้แก่ กาแฟ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง น้ำตาล ไม้ และยางพารา เป็นต้น
สินค้ากลุ่มพลังงาน (Energy)
สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงาน (Energy) เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ใช้เป็นพลังงานโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งใช้เป็นพลังงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน
โดยสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มพลังงานที่พบได้บ่อย ได้แก่ ก๊าซธรรม ถ่านหิน น้ำมันดิบ น้ำมันเตา และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่น ๆ เป็นต้น
โลหะอุตสาหกรรม (Industrial Metals)
โลหะอุตสาหกรรม (Industrial Metals) คือ สินค้าโภคภัณฑ์ที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่อุตสาหกรรมหนักไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ที่คุณกำลังใช้อยู่
สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่ม โลหะอุตสาหกรรม (Industrial Metals) ตัวอย่างเช่น เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม ตะกั่ว รวมถึง Rare-earth ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
โลหะมีค่า (Precious Metals)
โลหะมีค่า (Precious Metals) คือ สินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นแร่โลหะที่มีค่า ซึ่งเป็นสินค้าที่นักลงทุนมักจะพบได้บ่อย ๆ ในการเข้าไปเก็งกำไร หรือใช้ในการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนจากความไม่แน่นอนบางประการ
สินค้าโภคภัณฑ์ประเภทโลหะมีค่าทั่วไปที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ ทองคำ และโลหะเงิน
สินค้าปศุสัตว์ (Livestock)
สินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ (Livestock) อาจจะดูคล้ายกับสินค้าเกษตร แต่สินค้าปศุสัตว์จะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ทางการเกษตรที่จะมาจากสัตว์เท่านั้น
ตัวอย่างเช่น ไก่ วัว หมู และสินค้าอื่น ๆ ที่มาจากการทำปศุสัตว์
ปัจจัยที่มีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์
สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) เป็นสินค้าขั้นพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าทุกชนิด ทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โดยพื้นฐานราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะเคลื่อนไหวตามความต้องการซื้อสินค้า (Demand) ที่ต้องใช้สินค้าโภคภัณฑ์ในการผลิต
ในอีกความหมายหนึ่ง ด้วยความต้องการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อเหตุการณ์ใดก็ตามที่ทำให้ผู้ซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ไม่สามารถซื้อได้ หรือสินค้าโภคภัณฑ์เกิดการขาดแคลน ก็จะส่งผลกลับไปที่ราคาสินค้าที่ต้องใช้สินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวในการผลิต
นอกจากนี้ เหตุผลที่มักจะทำให้ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์เกิดการเคลื่อนไหวนอกจากความต้องการซื้อ (Demand) สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ที่เปลี่ยนไป ได้แก่:
สภาพอากาศ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากฤดูกาล อย่างเช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุเฮอริเคน และภัยธรรมชาติอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อปริมาณการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนการขนส่ง
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ทั้งในด้านประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำให้อุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น การค้นพบสินค้าโภคภัณฑ์ทดแทน ตลอดจนความก้าวหน้าในการผลิตที่ทำให้การใช้สินค้าโภคภัณฑ์ในการผลิตไม่มากเท่าในอดีต
การขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน ความยากง่ายในการขนส่งและความสะดวกของโครงสร้างพื้นฐานส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าโภคภัณฑ์จากแหล่งผลิตไปยังผู้ซื้อ เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้เช่นกัน กล่าวคือ การชะงักงันของการขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์ที่นำไปสู่การขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์ก็อาจจะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นได้
เหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ความขัดแย้ง ข้อพิพาททางการค้า และการคว่ำบาตรในภูมิภาคที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญอาจส่งผลต่ออุปทาน (Supply) ของสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาด ที่นำไปสู่ปัญหาด้านราคา