GreedisGoods » Economics » Complementary Goods คืออะไร? สินค้าประกอบกัน เป็นอย่างไร

Complementary Goods คืออะไร? สินค้าประกอบกัน เป็นอย่างไร

by Kris Piroj
Complementary Goods คือ สินค้าประกอบกัน คือ ในทางเศรษฐศาสตร์

Complementary Goods คืออะไร?

Complementary Goods คือ สินค้าประกอบกัน หมายถึงสินค้าที่ต้องใช้ประกอบกันหรือสินค้าที่ต้องใช้ร่วมกันระหว่างสินค้า 2 ชนิดขึ้นไป ทำให้ถ้าหากผู้บริโภคซื้อสินค้าชนิดหนึ่งผู้บริโภคก็จำเป็นที่จะต้องซื้อสินค้าอีกประเภทเพื่อใช้ประกอบกันด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าที่ต้องใช้ร่วมกันตามลักษณะของ Complementary Goods จะมีความสัมพันธ์ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจาก การใช้สินค้า A ก็จะส่งผลให้ต้องใช้สินค้า B ร่วมกันอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง

โดยความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าประกอบกัน (Complementary Goods) สามารถสรุปได้ ดังนี้

  • เมื่อความต้องการ (Demand) สินค้า A เพิ่มขึ้น ความต้องการสินค้า B ก็จะเพิ่มขึ้นตาม
  • เมื่อความต้องการ (Demand) สินค้า A ลดลง ความต้องการสินค้า B ก็จะลดลงตาม

ตัวอย่างของ Complementary Goods ที่เห็นได้บ่อยได้ชีวิตประจำวัน ได้แก่ กาแฟกับน้ำตาล รถยนต์กับน้ำมัน เครื่องปริ้นกับหมึก เกมคอนโซลกับเครื่องเล่นเกมคอนโซล และกล้องฟิล์มกับฟิล์ม เป็นต้น

นอกจากนี้ สินค้าประกอบกัน (Complementary Goods) มักจะไม่สามารถใช้สินค้าทดแทนกันได้ (หรือใช้ทดแทนได้ก็จะอยู่ในระดับที่สามารถทดแทนได้ยาก) อย่างเช่น เครื่องปริ้นที่ต้องใช้กับหมึกที่ตรงรุ่นเท่านั้น แม้ว่าบางคนอาจจะรู้จักสิ่งที่เป็นหมึกเทียบ (หมึกปลอม) ที่นำไปสู่ปัญหาของหัวพิมพ์ ตลอดจนการขาดประกันเป็นของแถม

ราคากับ Demand ของ Complementary Goods

ความสัมพันธ์ระหว่างราคา (Price) ของสินค้าชนิดหนึ่งจะเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกับปริมาณความต้องการซื้อ (Demand) ของสินค้าที่ต้องใช้ร่วมกัน

เพราะว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ความต้องการสินค้า (Demand) นั้น ๆ ลดลงตาม กฎของอุปสงค์ (Law of Demand) และเมื่อระดับความต้องการสินค้าลดลง ก็จะส่งผลไปถึงความต้องการของสินค้าที่ต้องใช้ร่วมกันจน Demand ลดลงตามไปด้วยนั่นเอง

โดยกราฟด้านล่างจะแสดง ความสัมพันธ์ระหว่างราคา (Price) ของสินค้าชนิดหนึ่ง ที่จะเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกับปริมาณความต้องการซื้อ (Demand) ของสินค้าที่ต้องใช้ร่วมกัน ในที่นี้คือกาแฟกับน้ำตาล

กราฟ Complementary Goods คือ สินค้าประกอบกัน สินค้าใช้ร่วมกัน ในทาง เศรษฐศาสตร์
ตัวอย่าง กราฟ Complementary Goods ที่แสดงพฤติกรรมของสินค้าประกอบกัน

จากกราฟจะเห็นว่า เมื่อราคากาแฟเพิ่มขึ้นจากจุด P2 ไปเป็นจุด P1 จนทำให้ความต้องการกาแฟลดลงตามกลไก Law of Demand ก็จะทำให้ความต้องการซื้อน้ำตาลของผู้บริโภคลดลงด้วยจากจุด Q2 เหลือจุด Q1 (ตามการซื้อกาแฟที่ลดลง)

กล่าวคือ ถ้าหากราคากาแฟเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้กาแฟขายได้น้อยลง เมื่อกาแฟขายได้น้อยลง น้ำตาลที่เป็นสินค้าที่ต้องใช้ร่วมกันหรือที่เราเรียกว่าสินค้าประกอบกัน (Complementary Goods) ก็จะขายได้น้อยลงตามไปด้วย

บทความที่คุณอาจสนใจ

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด