Conflict of Interest คืออะไร?
Conflict of Interest คือ ผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลหรือองค์กรมีส่วนร่วมในผลประโยชน์มากกว่า 1 อย่าง ซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือผิดจริยธรรมที่อาจนำไปสู่ผลร้ายแรงหากไม่จัดการอย่างเหมาะสม
โดย Conflict of Interest สามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายสถานการณ์ ทั้งธุรกิจ หน่วยงานรัฐบาล สถานศึกษา และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
ตัวอย่างเช่น การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถือหุ้นในบริษัทที่ตนมีหน้าที่กำกับดูแล และเมื่อนักข่าวเขียนข่าวเกี่ยวกับบริษัทที่ตนมีผลประโยชน์ทางการเงิน เป็นต้น
ทั้งหมดทำให้หลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมีนโยบายและขั้นตอนเพื่อช่วยระบุและจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนที่ชัดเจนเอาไว้ในจรรยาบรรณธุรกิจ (Code of Conduct) เพื่อให้มั่นใจว่าการตัดสินใจและการดำเนินการเป็นไปอย่างมีจริยธรรมและโปร่งใส
ปัญหาจาก Conflict of Interest
การตัดสินใจที่บกพร่อง จากการที่ Conflict of Interest หรือผลประโยชน์ทับซ้อนอาจนำไปสู่การตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของตนเองมากกว่าการกระทำเพื่อผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร
ความเสียหายต่อชื่อเสียง เมื่อการตัดสินใจอย่างไม่มีจริยธรรมจาก Conflict of Interest ถูกเปิดเผย ก็จะสามารถนำไปสู่การสูญเสียความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน และคู่ค้า
ความเสี่ยงด้านกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากผลประโยชน์ทับซ้อนดังกล่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการเงิน การติดสินบน หรือกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ
การสูญเสียทรัพยากรทางการเงิน ทั้งหมดส่งผลให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่ถูกต้องจากการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียทางการเงินสำหรับองค์กร
แนวทางการจัดการ Conflict of Interest
เพื่อหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน องค์กรหลายแห่งจึงมีนโยบายและขั้นตอนเพื่อช่วยระบุและจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนเพื่อให้แน่ใจว่าการตัดสินใจและการดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรมและโปร่งใส ซึ่งแนวทางในการจัดการ Conflict of Interest โดยทั่วไป ได้แก่:
นโยบายการเปิดเผยข้อมูล เป็นขั้นตอนพื้นฐานที่สุดในการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนหรือ Conflict of Interest คือการเปิดเผยข้อมูล บุคคลหรือองค์กรเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นจริงต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น หัวหน้างาน ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น
การกำหนดนโยบายและขั้นตอนในการจัดการ Conflict of Interest ที่ชัดเจน โดยนโยบายเหล่านี้อาจรวมถึงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อน การปฏิเสธ การแยกผลประโยชน์ และนโยบายการถือหุ้นในบริษัทคู่แข่ง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการฝึกอบรมเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนเพื่อทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและผลที่ตามมาที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อน
การกำกับดูแลและการตรวจสอบ (อย่างเป็นประจำ) ช่วยในการระบุและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นหรือกำลังเกิดขึ้นได้ อย่างเช่น การจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมเพื่อทบทวนและประเมินผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นและให้คำแนะนำในการจัดการกับความขัดแย้งเหล่านั้น
การแยกผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน ตัวอย่างเช่น การแยกการเงินส่วนบุคคลออกจากผลประโยชน์ทางธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน
การปฏิเสธ เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นได้ การปฏิเสธจึงเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับความขัดแย้งเหล่านั้น โดยการปฏิเสธเกี่ยวข้องกับการเอาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ อย่างเช่น การที่สมาชิกคณะกรรมการที่มี Conflict of Interest อาจถอนตัวจากกระบวนการตัดสินใจ