GreedisGoods » Economics » Consumer Surplus คืออะไร? เข้าใจกลไกส่วนเกินผู้บริโภค

Consumer Surplus คืออะไร? เข้าใจกลไกส่วนเกินผู้บริโภค

by Kris Piroj
Consumer Surplus คือ ส่วนเกินผู้บริโภค คือ ผู้ซื้อ เศรษฐศาสตร์ จุลภาค

Consumer Surplus คืออะไร?

Consumer Surplus คือ ส่วนเกินผู้บริโภคที่ผู้บริโภคได้รับเมื่อผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่าย (Willingness to Pay) โดยส่วนต่างของราคาที่ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายซึ่งเกินมาจากราคาขายของสินค้าเรียกว่า Consumer Surplus หรือส่วนเกินผู้บริโภค

ตัวอย่างเช่น ถ้าหาก A ต้องการซื้อโซฟา โดยมีราคาในใจที่ A ยินดีที่จะจ่าย (Willingness to Pay) อยู่ที่ 28,000 บาท แต่เมื่อ A ไปเลือกซื้อโซฟาจริงที่หน้าร้านถ้าหากโซฟามีราคามากกว่า 28,000 บาท นาย A ก็จะไม่ซื้อโซฟาดังกล่าว

ในทางกลับกันถ้าหากราคาโซฟาอยู่ที่ 26,000 บาท ซึ่งไม่เกินราคาที่ยินดีที่จะจ่าย (Willingness to Pay) นาย A ก็จะซื้อโซฟานั้น

และในอีกกรณีที่ราคาโซฟาอยู่ที่ 28,000 บาทพอดี ผู้บริโภคอาจจะซื้อสินค้าดังกล่าว แต่จะเป็นกรณีที่ผู้บริโภคไม่เกิด Consumer Surplus (ไม่ได้รับส่วนเกินผู้บริโภค)

กล่าวคือ Consumer Surplus เป็นส่วนต่างที่ผู้บริโภคได้รับเมื่อซื้อสินค้าที่ต้องการมาได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาในใจที่พวกเขายินดีที่จะจ่าย

วิธีคำนวณหา Consumer Surplus

วิธีคำนวณหา Consumer Surplus คือ การนำราคาที่ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายลบด้วยราคาขายของสินค้า โดยที่ Willingness to Pay (WTP) คือ ระดับราคาที่ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้า และ Price (P) คือ ราคาสินค้าที่ขายจริง

Consumer Surplus = WTP – P

ถ้าหากผลลัพธ์ออกมาเป็นบวก หมายความว่า เกิดส่วนเกินผู้บริโภคหรือ Consumer Surplus เท่ากับผลลัพธ์ดังกล่าว

จากตัวอย่าง ถ้านาย A ซื้อโซฟามาได้ในราคา 26,000 Consumer Surplus จะเท่ากับ = 28,000 – 26,000 = 2,000 บาท

แต่ถ้าหากผลลัพธ์เท่ากับ 0 หมายความว่า ไม่เกินส่วนเกินผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคซื้อสินค้ามาด้วยราคาที่เท่ากับราคาที่ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่าย (Willingness to Pay) พอดี

นอกจากนี้ ถ้าหากผลลัพธ์ออกมาเป็นลบ หมายความว่า ผู้บริโภคจะไม่ซื้อสินค้าดังกล่าว (แพงเกินไป) และไม่เกิดส่วนเกินผู้บริโภค

กราฟส่วนเกินผู้บริโภค (Consumer Surplus)

โดย Consumer Surplus ของทั้งตลาดสามารถนำมาแสดงในกราฟอุปสงค์ (Demand) ซึ่งเส้นอุปสงค์ในกราฟ คือ เส้นที่สะท้อนถึงความยินดีที่จะจ่าย (Willingness to Pay) ของผู้ซื้อทั้งหมดในตลาด

Consumer Surplus คือ ส่วนเกินผู้บริโภค กราฟ Consumer Surplus Graph Economics
กราฟส่วนเกินผู้บริโภค (Consumer Surplus)

ดังนั้น พื้นที่ใต้เส้นอุปสงค์ดังกล่าวแต่อยู่เหนือระดับราคาทั้งหมด (พื้นที่สีแดงในกราฟ Consumer Surplus ทั้งหมด) จึงเป็นพื้นที่ส่วนเกินผู้บริโภค (Consumer Surplus) ทั้งตลาด

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด