บรรษัทภิบาล คืออะไร?
บรรษัทภิบาล คือ แนวทางการปฏิบัติในการบริหารจัดการองค์กรด้วยการกำกับดูเเลกิจการที่ดี เพื่อควบคุมการดำเนินงานภายในองค์กรให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และยุติธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับองค์กรทุกฝ่าย
โดยการที่องค์กรมีแนวทางปฏิบัติด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ที่ชัดเจนช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองอย่างถูกต้องตามหลักพื้นฐานการดำเนินธุรกิจอย่างมีบรรษัทภิบาลที่ได้กำหนดไว้
ผลที่องค์กรได้รับจากการดำเนินงานอยู่บนพื้นฐานของบรรษัทภิบาลคือการที่องค์กรสามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จริยธรรมทางสังคม มาตรฐานอุตสาหกรรม และข้อบังคับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายความว่าการดำเนินธุรกิจขององค์กรจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความโปร่งใสตามมาในภายหลัง
เมื่อองค์กรมีความน่าเชื่อถือก็จะทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้าที่เชื่อถือแบรนด์ ความเชื่อมั่นจากนักลงทุน และความไว้วางใจจากคู่ค้าของธุรกิจ เป็นต้น
กล่าวคือ บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ก็คือธรรมาภิบาล (Good Governance) ในบริบทของธุรกิจของภาคเอกชน ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรมพื้นฐาน
บรรษัทภิบาลเกี่ยวกับอะไร
บรรษัทภิบาล (Corporate Governance : CG) เป็นสิ่งที่แตกต่างกันในแต่ละบริบททางสังคม มาตรฐานในแต่ละอุตสาหกรรม และกฎหมายในแต่ละประเทศ แต่อย่างไรก็ตามขอบเขตของการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับประเด็นดังต่อไปนี้:
ความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ (Transparency) การดำเนินงานที่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสในการดำเนินงานและกระบวนการตัดสินใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องและสามารถตรวจสอบได้
ความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ (Responsibility) การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนอย่างเต็มความสามารถโดยมุ่งมั่นให้งานสำเร็จและพัฒนางานให้ดีขึ้น
ความรับผิดชอบต่อผลที่ตามมา (Accountability) ความรับผิดชอบในผลของการกระทำจากการกระทำ การสั่งการ การมอบหมาย และการตัดสินใจตามบทบาทหน้าที่ของตน โดยสามารถชี้แจงและอธิบายการตัดสินใจนั้นได้ รวมถึงตรวจสอบให้แน่ใจว่าการตัดสินใจโดยอิงตามหลักฐานข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดหรือความล้มเหลวจากการตัดสินใจเหล่านั้นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ความรับผิดชอบ (Responsibility) คือ ธุรกิจควรรับผิดชอบต่อการกระทำและการตัดสินใจ ซึ่งรวมถึงการมีสายงานความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน และรับผิดชอบต่อความผิดพลาดหรือความล้มเหลว
ความซื่อสัตย์ (Integrity) การบริหารจัดการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างเช่น คู่ค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้น อีกทั้งยังรวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมต่าง ๆ ในแต่ละอุตสาหกรรม
ความยุติธรรม (Fairness) การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างยุติธรรม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจนำไปสู่การตัดสินใจอย่างไม่ยุติธรรม
การดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง (Compliance) ที่ถูกต้องตามกฎหมายรวมถึงข้อบังคับและมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการมีระบบและกระบวนการบังคับให้ปฏิบัติตามที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจจะดำเนินไปอย่างเป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมายและข้อบังคับ
การมีส่วนร่วม (Participation) การที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีสิทธิในกระบวนการตัดสินใจควรมีโอกาสมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจขององค์กร
ทำไมบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) สำคัญกับนักลงทุน?
จะเห็นว่าในภาพรวมบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) คือเรื่องของแนวทางการบริหารและแนวปฏิบัติภายในองค์กร เพื่อทำให้แน่ใจธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างถูกต้องตามจริยธรรมพื้นฐานของสังคม กฎหมาย ข้อบังคับ และมาตรฐานบางอย่างที่เกี่ยวข้อง
ส่งผลให้บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) เป็นแนวทางในการกำกับดูแลกิจการที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) เพราะการดำเนินธุรกิจอย่างสุจริตและโปร่งใสย่อมทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่นในระยะยาวโดยไม่มีปัญหาทางกฎหมายและปัญหาต่อความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างเช่น ลูกค้า คู่ค้า และผู้ถือหุ้น
กล่าวคือ หากบริษัทหนึ่งดำเนินธุรกิจด้วยการทำทุกอย่างตรงข้ามแนวคิดด้านบรรษัทภิบาล ในระยะแรกถ้าหากไม่มีใครรู้หรือยังไม่มีใครจับได้ ธุรกิจดังกล่าวก็จะยังคงดำเนินต่อไป (หรือแม้กระทั่งมีกำไรมากขึ้น) แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ถูกจับได้ก็เกิดปัญหาตามมาและส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ตัวอย่างเช่น:
- การตกแต่งบัญชีเพื่อเลี่ยงภาษี ที่ตามมาด้วยปัญหาทางกฎหมายและค่าปรับมหาศาล
- โฆษณาเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภค ที่ตามมาด้วยปัญหาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและปัญหาทางกฎหมาย
- การเอาเปรียบพนักงาน ที่ตามมาด้วยปัญหาการลาออกของพนักงานที่สูง ส่งผลให้งานต้องชะงักและต้องสอนงานให้พนักงานใหม่บ่อย ๆ
ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลง่าย ๆ ที่นักลงทุนที่ไม่ว่าจะเน้นลงทุนในธุรกิจที่ยั่งยืนหรือไม่ก็ตาม ควรเลือกลงทุนในธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของบรรษัทภิบาล
อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณามากกว่าหลักบรรษัทภิบาลที่แสดงอยู่บนหน้ากระดาษที่บริษัทอยากบอก แต่ประเด็นเหล่านี้สามารถสังเกตและตรวจสอบได้จากการดำเนินงานในอดีต ปัจจุบัน ชื่อเสียงขององค์กร ข่าวหรือเหตุการณ์บางอย่างและวิธีตอบสนองต่อแต่ละเหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงต่อหลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารหรือตัวแทน