Corporate Identity คืออะไร?
Corporate Identity คือ อัตลักษณ์องค์กร เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่องค์กรต้องการนำเสนอสู่สาธารณะ เพื่อทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกรับรู้ตัวตนและจดจำองค์กรได้ตาม Corporate Identity หรือ CI ที่องค์กรได้ถ่ายทอดออกไป
ในองค์กรที่มี Corporate Identity (CI) หรือ CI Branding ที่แข็งแกร่ง จะช่วยให้องค์กรโดเด่นท่ามกลางคู่แข่งมากมายและง่ายต่อการเป็นที่จดจำจากทั้งผู้ที่เป็นลูกค้า ผู้ที่อาจจะเป็นลูกค้า ผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้า ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) อื่น ๆ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมที่ตลาดมีการแข่งขันสูง
โดย Corporate Identity สามารถถ่ายทอดออกมาได้ผ่านองค์ประกอบภายนอกที่ผู้คนสามารถรับรู้ได้ทางกายภาพ อย่างเช่น ผ่านการออกแบบโลโก้ ชุดสี แบบอักษร บรรจุภัณฑ์ และวิธีการดีไซน์เนื้อหาที่เผยแพร่ เป็นต้น คล้ายกับ Brand Identity (อัตลักษณ์ของแบรนด์)
ในขณะที่ Brand Identity หรือ อัตลักษณ์ของแบรนด์ เป็นสิ่งที่กว้างขึ้น และไม่ได้ครอบคลุมเพียงแค่องค์ประกอบเฉพาะทางกายภาพที่สามารถรับรู้ได้ทันทีขององค์กรหรือบริษัทเท่านั้น แต่ Brand Identity จะรวมไปถึงค่านิยม พันธกิจ บุคลิกภาพ ประสบการณ์ของลูกค้า ความเชื่อมโยงทางอารมณ์ที่แบรนด์สร้างขึ้นกับผู้บริโภค และกลยุทธ์ของแบรนด์โดยรวม
กล่าวคือ Corporate Identity หรือ CI คือเครื่องมือสำหรับการสะท้อนอัตลักษณ์บางอย่างที่องค์กรต้องการการเป็นและต้องการสะท้อนออกมาสู่สาธารณะด้วยรูปแบบทางกายภาพต่าง ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างแบรนด์ และง่ายต่อการเป็นที่จดจำและเข้าไปอยู่ในใจของคนทั่วไป
ทำให้ Corporate Identity (CI) หรือ CI Branding มักจะถูกพูดถึงเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับการออกแบบ และการทำคอนเทนต์ของแบรนด์มากกว่า
Corporate Identity เกิดจากอะไร?
ในภาพรวม Corporate Identity คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์ภายนอกที่ผู้คนสามารถรับรู้ได้ทางการภาพ โดยมีเป้าหมายในการสะท้อนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้งภายและภายนอกรับรู้ได้ว่าองค์กรเกี่ยวกับอะไร ทำอะไร และเพื่อความโดดเด่นที่ง่ายต่อการเป็นที่จดจำ
ทำให้โดยทั่วไป Corporate Identity จะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบ ดังนี้:
- การออกแบบโลโก้ (Logo) ที่สื่อสารว่าองค์กรเกี่ยวกับอะไร ง่ายต่อการจดจำ และไม่ซับซ้อนเกินไป
- สี (Color Palette) ที่ใช้สะท้อนตัวตนของแบรนด์ การเลือกสีที่เป็นเอกลักษณ์จะทำให้ผู้คนสามารถจดจำแบรนด์ได้เหมือนการที่เห็นคู่สีพื้นสีน้ำเงินฟอนต์สีเหลืองแล้วนึกถึง IKEA ได้ทันที
- การจัดวางตัวอักษร (Typography) เกี่ยวข้องกับทั้งแบบอักษร (Fonts) ที่องค์กรเลือกใช้ น้ำหนักของฟอนต์ ตลอดจนวิธีเว้นวรรค
- บรรจุภัณฑ์ (Packaging) และฉลาก (Label) เป็นส่วนช่วยให้ผู้คนจดจำสินค้าของแบรนด์ได้ อย่างเช่น คุกกี้กล่องแดง Arsenal และ Imperial
- การตกแต่งร้าน (Physical Evidence) ของสถานที่ที่ให้บริการลูกค้าในกรณีของธุรกิจบริการ หรือหน้าร้านในธุรกิจที่มีหน้าร้าน ซึ่งควรเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและเหมาะกับรูปแบบของธุรกิจที่ให้บริการ
- เครื่องแบบ (Uniforms) ของพนักงานและบุคลากรในองค์กร ในกรณีที่ไม่มีเครื่องแบบขององค์กรอาจจะเป็นเพียง Dress Code ร่วมกันภายในองค์กรก็ได้
- คำขวัญ (Slogan) ที่สอดคล้องกับธุรกิจและวิสัยทัศน์ (Vision) ขององค์กร
CI สร้างประโยชน์อะไรให้กับแบรนด์?
ประโยชน์ของ Corporate Identity เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างความแตกต่างและภาพจำขององค์กรให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องสามารถจดจำและแยกออกจากคู่แข่งมากมายในตลาด แต่จะยังไม่เกี่ยวกับคุณภาพและประสบการณ์จากการใช้สินค้าเหมือนกับ Brand Identity ทำให้โดยพื้นฐาน Corporate Identity หรือ CI สร้างข้อได้เปรียบให้กับธุรกิจ ดังนี้
การจดจำแบรนด์ และความแตกต่าง ความเป็นเอกลักษณ์ที่เกิดขึ้นจาก Corporate Identity ที่แข็งแกร่งช่วยในการสร้างการจดจำแบรนด์ ผ่านการใช้โลโก้ สี และองค์ประกอบภาพที่สอดคล้องกันในแพลตฟอร์มต่าง ๆ และวิธีที่องค์กรสื่อการตลาด ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าระบุและจดจำแบรนด์ได้ง่ายขึ้น ตลอดจนสามารถแยกแบรนด์ออกจากสินค้าแบบเดียวกันท่ามกลางการแข่งขันภายในตลาด
ภาพลักษณ์ของความเป็นมืออาชีพ Brand CI ที่ชัดเจนและดูน่าเชื่อถือจะสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมืออาชีพและน่าเชื่อถือให้กับบริษัทให้กับลูกค้า คู่ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
การสร้างคุณค่าให้กับตราสินค้า ความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งเกิดขึ้นจากการออกแบบ Corporate Identity เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์ของลูกค้ากับสินค้า กล่าวคือ เมื่อลูกค้าเห็นและจดจำองค์ประกอบของ Corporate Identity อย่างสม่ำเสมอจะช่วยการตอกย้ำความไว้วางใจและความภักดีในตราสินค้า ซึ่งนำไปสู่การซื้อซ้ำและการสนับสนุนในรูปแบบอื่น ๆ
ความสอดคล้องในการสื่อสารทางการตลาด การมี Corporate Identity ที่ชัดเจน จะช่วยเป็นกรอบให้กับการสื่อสารทางการตลาดระหว่างแบรนด์และผู้บริโภคผ่านการออกแบบที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตัวอย่างที่ง่ายที่สุด คือ การออกแบบกราฟิกบนโซเชียลมีเดียของแต่ละธนาคาร
การกระตุ้นความภาคภูมิใจและแรงจูงใจของพนักงาน ผ่านความรู้สึกมีส่วนร่วมและความภาคภูมิใจในองค์กรที่มี Corporate Identity ที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ การที่พนักงานมีความรู้สึกที่สอดคล้องกับ Corporate Identity เหล่านี้ยังช่วยให้พนักงานเข้าใจแนวปฏิบัติและสิ่งที่องค์กรต้องการถ่ายทอดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น