Credit Rating คืออะไร?
Credit Rating คือ อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ ที่ใช้แสดงระดับความสามารถในการชำระหนี้โดยประเมินจากระดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ (Debt Instrument) โดยในแต่ละระดับของ Credit Rating จะบ่งบอกถึงการที่ตราสารหนี้นั้นมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มากน้อยเพียงใด
การจัดอันดับ Credit Rating จะเกิดขึ้นจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เรียกว่า Credit Rating Agency (CRA) อย่างเช่น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ในประเทศไทย หรืออย่างบริษัท Standard & Poor’s ที่เป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยปัจจัยที่นำมาใช้ในการจัดอันดับ Credit Rating มักจะเกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ (รัฐบาล บริษัท รัฐวิสาหกิจ) ซึ่งพิจารณาจากฐานะการเงิน ประวัติการชำระหนี้และการเป็นหนี้ในอดีต และความแข็งแกร่งด้านรายได้ของผู้ออกตราสารหนี้
เมื่อบริษัทจัดอันดับ Credit Rating พิจารณาจากข้อมูลเหล่านั้น ก็จะจัดอันดับผู้ออกตราสารหนี้ออกมาเป็นระดับตามวิธีการจัดอันดับของแต่ละผู้จัดอันดับ โดยทั่วไปจะใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษตั้งแต่ A ถึง D ซึ่ง Credit Rating ทางฝั่ง A คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด และ Credit Rating ฝั่ง D คือ Credit Rating กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงที่สุด (โดยที่ D คือ Default ที่หมายถึงการผิดนัดชำระหนี้)
นอกจากนี้ Credit Rating ยังแสดงถึงผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับจากตราสารหนี้ดังกล่าว ซึ่งผลตอบแทนของตราสารหนี้ก็จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับระดับ Credit Rating โดยที่ตราสารหนี้ที่ Credit Rating ต่ำที่สุดจะให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุด (แลกกับความเสี่ยงที่สูง) ในขณะที่ตราสารหนี้ที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูงที่สุดจะให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (แต่ความเสี่ยงต่ำที่สุด)
และในทางกลับกัน ในมุมมองของผู้ออกตราสารหนี้ (Debt Instrument) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้หรือ Credit Rating คือสิ่งที่หมายถึงต้นทุนทางการเงินในการออกตราสารหนี้ เพราะผู้ออกตราสารหนี้อย่างบริษัทเอกชนที่ออกหุ้นกู้ (Debenture) คือผู้ที่จ่ายดอกเบี้ยให้กับนักลงทุน ยิ่งบริษัทของพวกเขามีความเสี่ยงสูง ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้นักลงทุนเพื่อชดเชยความเสี่ยงก็จะยิ่งสูงตาม
Credit Rating มีอะไรบ้าง?
Credit Rating จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มตามระดับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ได้แก่
- Investment Grade คือ Credit Rating กลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือสูง มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ผลตอบแทนต่ำ
- Non-investment Grade หรือ Speculative Grade คือ Credit Rating กลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ ความเสี่ยงในการผิดนัดชำหนี้สูง แต่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
โดย Credit Rating จะถูกแบ่งตามตัวอักษรภาษาอังกฤษที่แสดงถึงโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่างกัน โดย AAA จะเป็นระดับ Credit Rating สูงที่สุด (โอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำที่สุด) และ C หรือ CCC จะเป็นระดับความน่าเชื่อถือต่ำที่สุด แต่อย่างไรก็ตามตัวอักษรเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปตามสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency) ซึ่งในบางกรณี Credit Rating ก็จะมีเครื่องหมาย + และเครื่องหมาย – เติมเข้าไปอีก อย่างเช่น AAA+ เพื่อทำให้สามารถแยกอันดับ Credit Rating ได้ละเอียดและกว้างยิ่งขึ้นจากแบบปกติ
ตลอดจน Credit Rating ที่ใช้ตัวอักษรบอกระดับ Credit Rating นอกเหนือจากนี้ อย่างเช่น RD หรือ Restricted Default ของ Fitch Rating ที่หมายถึง กลุ่มที่ผิดนัดชำระหนี้ แต่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยื่นฟ้องล้มละลาย พิทักษ์ทรัพย์ หรือการเลิกกิจการอย่างเป็นทางการอื่น ๆ

Credit Rating ในกลุ่ม Investment Grade
Credit Rating ในกลุ่ม Investment Grade คือ กลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือสูงเนื่องจากมีโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำ โดย AAA หรือ AAA+ จะเป็นระดับ Credit Rating ที่ดีที่สุดของ Credit Rating ทั้งหมดและของกลุ่ม Investment Grade ซึ่งอันดับที่ต่ำที่สุดใน Investment Grade มักจะเป็น BBB หรือ BBB-
โดย Credit Rating แต่ละระดับในกลุ่ม Investment Grade มีความหมาย ดังนี้
- AAA คือ Credit Rating ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด (เรียกว่า Prime) เป็นกลุ่มที่โอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำที่สุด
- AA เป็นกลุ่ม High Grade ที่ความเสี่ยงต่ำมาก เป็นกลุ่มที่มักจะถูกมองว่ามีความอ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกต่ำ
- A เป็นกลุ่มความเสี่ยงต่ำ (หรือความเสี่ยงปานกลางค่อนไปทางต่ำ) แม้ว่าโอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำ แต่ก็ยังคงอ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนอยู่บ้าง
- BBB คือ Credit Rating ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลางจากการผิดนัดชำระหนี้ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในกลุ่ม Investment Grade ที่เป็นกลุ่มความเสี่ยงต่ำ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าว่า Credit Rating ในกลุ่ม Investment Grade จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีคำแนะนำในการลงทุนมากมายแนะนำให้ลงทุนในกลุ่ม Investment Grade แต่ก็ยังมีโอกาสที่ผู้ออกตราสารหนี้ในระดับ Investment Grade เหล่านี้ (รวมถึง AAA และ AAA+) จะผิดนัดชำระหนี้ (Default) ได้อยู่ดี ในท้ายที่สุดจึงเป็นหน้าที่ของนักลงทุนในการพิจารณาอย่างรอบคอบและติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
Credit Rating ในกลุ่ม Non-investment Grade
Credit Rating ในกลุ่มที่มีระดับต่ำว่า BBB ลงมาจะเรียกว่า Non-investment Grade หรือ Speculative Grade ที่ให้ผลตอบแทนสูง (ที่บางครั้งอาจให้ผลตอบแทนในระดับหลายสิบเปอร์เซ็นต์) แต่แลกกับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงมากเช่นกัน
โดย Credit Rating แต่ละระดับในกลุ่ม Non-investment Grade มีความหมาย ดังนี้
- BB คือ Credit Rating ความเสี่ยงสูง แต่ยังถือว่าเป็นระดับความน่าเชื่อถือสูงที่สุดในกลุ่ม Credit Rating ความเสี่ยงสูง
- B ความเสี่ยงสูงมาก
- C คือ Credit Rating ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด
- D คือ Default เป็นตราสารหนี้ที่อยู่ในสถาณะผิดนัดชำระหนี้
ทั้งนี้ Credit Rating ในกลุ่มนี้ในบางผู้จัดอันดับ Credit Rating อาจเริ่มตั้งแต่ BB+ หรือ BB ขึ้นอยู่กับการแบ่งกลุ่มโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency : CRA)