Crowding out Effect คืออะไร?
Crowding out Effect คือ ปรากฏการณ์ที่การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายหรือการลงทุนของภาครัฐส่งผลให้การบริโภคหรือการลงทุนของภาคเอกชนลดลง เนื่องจากต้นทุนในการกู้ยืมเพื่อการลงทุนสูงขึ้นหรือภาษีที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนของภาครัฐทำให้รายได้หลังภาษีลดลง
รูปแบบที่ง่ายที่สุดของ Crowding out Effect คือผลกระทบแบบลูกโซ่ของการใช้จ่ายหรือการลงทุนของภาครัฐ เป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากการหาเงินของรัฐบาลไปใช้จ่าย ที่เมื่อภาครัฐต้องการใช้จ่ายและรายได้ของรัฐบาลมาจากภาษี (Tax) แต่ในกรณีที่ภาครัฐมีเงินไม่มากพอภาครัฐก็จำเป็นที่จะต้องกู้เงินจากตลาดเงินทุนเพื่อใช้ในโครงการ
การกู้เงินของภาครัฐไปใช้ก็ไม่ต่างจากการกู้เงินของภาคเอกชนและไม่ได้มีข้อยกเว้นใด ๆ เนื่องจากเงินทุนมีอยู่อย่างจำกัด การกู้เงินของภาครัฐโดยเฉพาะในรัฐบาลขนาดใหญ่จะทำให้เงินทุนมหาศาลกลายเป็นที่ต้องการ (จากภาครัฐในขณะนั้น)
และอย่างที่ทุกคนรู้ ตามกฎของอุปสงค์ (Law of Demand) เมื่อความต้องการในสิ่งใดเพิ่มสูงขึ้น ราคาที่ในกรณีนี้ก็คือต้นทุนในการกู้ยืมหรือดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดเงินทุนก็สูงขึ้นตาม
ซึ่งต้องไม่ลืมว่าในตลาดเงินทุนเดียวกันนั้นก็มีภาคเอกชนที่ต้องการกู้เพื่อนำไปเงินลงทุนในโครงการต่าง ๆ อยู่ด้วยเช่นกัน การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยจึงทำให้แรงจูงใจในการลงทุนของภาคเอกชนลดลง เนื่องจากดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวไม่น่าหรือไม่คุ้มที่จะลงทุนอีกต่อไป
Crowding out Effect กรณีนี้จะรุนแรงยิ่งขึ้นในกรณีที่ตลาดเงินทุนมีขนาดเล็กหรือสภาพคล่องในขณะนั้นต่ำ เพราะหมายถึงปริมาณเงิน (Supply ของเงินกู้ : Supply of Loans) ในขณะนั้นมีอยู่น้อย และ/หรือในกรณีที่เป็นรัฐบาลขนาดใหญ่ที่มีการจัดหาเงินทุนด้วยการกู้เงินในปริมาณมหาศาลแบบสหรัฐอเมริกา
สาเหตุของ Crowding out Effect
สาเหตุของ Crowding out Effect ที่เกิดจากการที่ภาครัฐทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายหรือการลงทุน จนส่งผลต่อการบริโภคหรือการลงทุนของเอกชนจะมีอยู่ 3 กรณี คือ
การที่รายจ่ายของภาครัฐมาจากการกู้เงินจากตลาดเงิน จะส่งผลให้อุปสงค์ต่อเงินทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลถึงดอกเบี้ย (ของทั้งตลาด) เพิ่มขึ้น ทำให้ภาคเอกชนลงทุนลดลงเนื่องจากต้นทุนในการกู้ยืมอยู่ในระดับสูง ตามที่ได้อธิบายในตอนต้น
การที่รายจ่ายของภาครัฐมาจากการขึ้นภาษี จะส่งผลให้รายได้หลังจากหักภาษีของเอกชนลดลง ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อของภาคเอกชนลดลงตาม และทำให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนลดลงตามกำลังซื้อในท้ายที่สุด
การที่ใช้จ่ายของภาครัฐใช้ในโครงสร้างพื้นฐาน ในกรณีนี้จะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจที่โครงสร้างพื้นฐานสามารถให้บริการได้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ดังนั้นหากรัฐบาลลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานเอง ก็จะเป็นกันกีดกันการลงทุนของเอกชนในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น
จะเห็นว่าแม้การลงทุนของภาครัฐจะสามารถนำไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจได้ แต่ในทางกลับกันบนเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสม การลงทุนของภาครัฐก็นำไปสู่ผลเสียได้เช่นกัน เรียกได้ว่าผลของ Crowding out Effect คือ ต้นทุนแฝงของการใช้จ่ายของภาครัฐ
Crowding out Effect จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
แม้ว่า Crowding out Effect จะดูน่ากลัวและทำให้การลงทุนของภาครัฐในภาพรวมดูแย่ แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้าน การลงทุนของภาครัฐเองก็เป็นวิธีการที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว และโดยทั่วไป Crowding out Effect ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก เพราะปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อ Crowding out Effect คือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่
หากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็นก็ยากที่จะเกิดภาวะ Crowding Out เนื่องจากในเงื่อนไขปกติ ความต้องการของภาคเอกชนจะอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว
ในทางกลับกัน ในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งมีการจ้างงานเต็มที่อยู่แล้ว การหาเงินทุนของรัฐบาลจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้นในการหาเงินทุนทำให้ดอกเบี้ยในการกู้ยืมจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ระดับเงินเฟ้อ (Inflation Rate) และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ที่เป็นดอกเบี้ยพื้นฐานสูงอยู่แล้ว ซึ่งทำให้แรงจูงใจของการลงทุนต่าง ๆ ของเอกชนลดลงตามที่อธิบายในตอนต้น