GreedisGoods » Finance » Current Ratio คืออะไร? (อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน)

Current Ratio คืออะไร? (อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน)

by Kris Piroj
Current Ratio คือ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน คือ วิธีคำนวณ Current Ratio ตัวอย่าง อัตราส่วนทุนหมุนเวียน

Current Ratio คือ อะไร ?

Current Ratio คือ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน หรือ อัตราส่วนทุนหมุนเวียน เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่เปรียบเทียบระหว่างสินทรัพย์หมุนเวียนกับหนี้สินหมุนเวียน เพื่อใช้ในการบ่องบอกสภาพคล่องทางการเงินของกิจการจากความสามารถในการเปลี่ยนสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นเงินสดเพื่อชำระหนี้สินระยะสั้นของกิจการ

การวิเคราะห์ Current Ratio หรือ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน จะแสดงให้เห็นว่ากิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นสภาพคล่อง (เงินสด) เพื่อใช้ในการจ่ายหนี้สินหมุนเวียนที่เป็นหนี้สินระยะสั้นของกิจการที่มีกำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้ 1 ปีหรือต่ำกว่า อยู่เพียงพอหรือไม่หากต้องจ่าย และมีสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน

กล่าวคือ Current Ratio คืออัตราส่วนทางการเงินที่ใช้วิเคราะห์ความมั่นคงของกิจการในด้านสภาพคล่องของธุรกิจ โดยการบ่งชี้ถึงสถานะความมั่นคงทางการเงินระยะสั้นของบริษัทหากต้องชำระหนี้ระยะสั้นทันทีว่ามีสภาพคล่องพอที่จะครอบคลุมหนี้สินระยะสั้นหรือไม่ ซึ่ง Current Ratio ที่เท่ากับ 1 จะแสดงถึงการที่กิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนที่เท่ากับหนี้สินหมุนเวียนพอดี ส่งผลให้ Current Ratio ที่สูงกว่า 1 จึงเป็นค่าที่ต้องการ

ซึ่งความมั่นคงด้านสภาพคล่องระยะสั้นของกิจการจะทำให้บริษัทจะไม่ต้องขายสินทรัพย์ระยะยาวออกไปห่รือก่อหนี้เพิ่มเพื่อชำระหนี้ระยะสั้นของกิจการ ที่อาจลุกลามไปสู่ปัญหาทางการเงินของกิจการในระยะกลางหรือระยะยาวและกระทบกับการดำเนินงานของกิจการในท้ายที่สุดจากการขายขาดทุน หรือปัญหาดอกเบี้ยกู้ยืมที่ซ้ำซ้อนที่เป็นประตูสู่ปัญหามากมาย

อย่างไรก็ตาม Current Ratio ที่สูงมากอาจบ่งชี้ว่าบริษัทไม่ได้ใช้สินทรัพย์หมุนเวียนเพื่อสร้างรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น แม้โดยทั่วไปแล้ว Current Ratio ที่สูงกว่า 1 จะเป็นที่ต้องการ แต่อัตราส่วนที่สูงเกินไปอาจไม่ใช่สัญญาณเชิงบวกเสมอไป ตลอดจนมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของธุรกิจ

วิธีคำนวณ Current Ratio

การคำนวณ Current Ratio คือ การคำนวณอัตราส่วนจากการนำสินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) หารด้วยหนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) โดยทั้งสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียนจะแสดงอยู่ในงบแสดงฐานะการเงิน (Statement of Financial Position) ของแต่ละบริษัท

Current Ratio = สินทรัพย์หมุนเวียน ÷ หนี้สินหมุนเวียน

โดยที่

สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) คือ สินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินได้ในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อย่างเช่น เงินสด เงินฝาก

หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) คือ หนี้สินที่มีกำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้ 1 ปี หรือต่ำกว่า

คำตอบที่ได้จากการคำนวณ Current Ratio จะมีหน่วยเป็นเท่าที่หมายถึงสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นกี่เท่าของหนี้สินหมุนเวียน (และสามารถแปลงเป็นเปอร์เซ็นต์ได้เช่นกันหากต้องการ)

สูตร Current Ratio คือ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน ตัวอย่าง Current Ratio วิธี คำนวณ
สูตร Current Ratio (เท่า)

สำหรับนักลงทุนที่ลงในหุ้นของบริษัทต่าง ๆ สามารถดู Current Ratio ของแต่ละบริษัทได้จากรายงานประจำปีของแต่ละบริษัทโดยที่ไม่จำเป็นต้องคำนวณเอง อย่างในกรณีของหุ้นของบริษัทไทยจะมีการแสดงอัตราส่วนทางการเงินเบื้องต้นอย่างเช่น Current Ratio เอาไว้ในส่วนของข้อมูลงบการเงินในหน้าหุ้นรายตัวบนเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์

ค่า Current Ratio มีความหมายอย่างไร?

Current Ratio หรือ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน ที่คำนวณออกมาได้จะมีหน่วยเป็น “เท่า” กล่าวคือ Current Ratio ที่เท่ากับ 1 หมายถึง กิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนที่เท่ากับหนี้สินหมุนเวียนพอดี ซึ่งค่า Current Ratio ที่คำนวณออกมาจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน ดำเนินธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน และข้อมูลในอดีตของบริษัทเอง

ในเบื้องต้น Current Ratio มีความหมาย ดังนี้

Current Ratio มากกว่า 1 คือ บริษัทมีสภาพคล่องดี มีสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สินระยะสั้น (มีพอจ่ายหนี้สินระยะสั้น) ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนอื่นในการจ่ายหนี้ระยะสั้นดังกล่าว

Current Ratio น้อยกว่า 1 คือ การที่บริษัทขาดสภาพคล่อง มีหนี้สินระยะสั้นมากกว่าสินทรัพย์ระยะสั้น หรือมีเงินไม่พอจ่ายหนี้ระยะสั้น ซึ่งอาจทำให้บริษัทต้องกู้เงินเพิ่มหรือขายสินทรัพย์บางอย่างเพื่อใช้หนี้

Current Ratio คือ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน คือ ตัวอย่าง อัตราส่วนทุนหมุนเวียน
การแปลความหมายของการวิเคราะห์ Current Ratio

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์งบการเงินด้วย Current Ratio มีข้อควรระวังที่สำคัญ คือ การที่บางครั้งสินทรัพย์หมุนเวียนที่มีอยู่มาก จริง ๆ แล้วอาจจะเป็นเพราะสินค้าคงเหลือ (Inventory) ที่มีอยู่มาก ทั้งที่ถ้าหากขายไม่ออกก็ไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าเหล่านั้นเป็นเงินมาใช้หนี้ได้ อีกทั้งสินค้าคงเหลือยังมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้าเอาไว้ อาจหมดอายุระหว่างเก็บ หรืออาจเป็นสินค้าเทคโนโลยีที่เก็บไว้นานแล้วตกรุ่นจนขายไม่ได้ก็ได้

ดังนั้น บางครั้งที่ค่า Current Ratio ออกมาสูง จึงควรตรวจสอบไปที่รายการสินทรัพย์หมุนเวียนแต่ละรายการของบริษัทว่ามีโครงสร้างอย่างไร ตลอดจนการใช้อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio) ในการวิเคราะห์ร่วมกัน

ตัวอย่าง อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio)

ตัวอย่างเช่น บริษัท GreedisGoods มีสินทรัพย์หมุนเวียน 300 บาท และมีหนี้สินหมุนเวียน 100 บาท โดยค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่บริษัท GreedisGoods ดำเนินธุรกิจอยู่มีอัตราส่วน Current Ratio คือ 6 เท่า

จากตัวอย่าง Current Ratio จะได้เท่ากับ = 300 ÷ 100 หรือ Current Ratio คือ 3 เท่า หมายความว่า บริษัท GreedisGoodse มีสินทรัพย์หมุนเวียนคิดเป็น 3 เท่าของหนี้สินหมุนเวียนนั่นเอง ซึ่งมากพอที่จะใช้หนี้ระยะสั้นของบริษัท แต่เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมจะเห็นว่า GreedisGoods ของบริษัทต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

บทความที่คุณอาจสนใจ

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด