ภาษีศุลกากร คืออะไร?
ภาษีศุลกากร คือ ภาษีนำเข้า (Import Tax) เป็นภาษีที่ผู้นำเข้าจะต้องชำระเมื่อนำเข้าสินค้าเกือบทุกประเภทมายังประเทศไทย ซึ่งสินค้าแต่ละประเภทจะมีอัตราภาษีศุลกากรที่แตกต่างกันออกไป แต่สินค้าทุกประเภทจะมีวิธีคำนวณภาษีศุลกากรที่เหมือนกัน
ในเบื้องต้นของ วิธีคำนวณภาษีศุลกากร หรือ คำนวณภาษีนำเข้า จะสามารถทำได้ตามสมการดังนี้ ภาษีศุลกากร = อากรนำเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีเพื่อมหาดไทย
นอกจากนี้ ราคาสินค้าที่นำมาใช้ในการคำนวณภาษีศุลกากร ก็จะต้องเป็นราคาแบบ CIF หรือ Cost Insurance and Freight ซึ่งเป็นราคาที่รวมราคาสินค้า ค่าประกันสินค้า และค่าขนส่งแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิธีคำนวณภาษีศุลกากร คือ สิ่งที่อาจดูเหมือนเป็นการคำนวณง่าย ๆ ที่เพียงแทนค่าลงไปในสมการก็จะได้ตัวเลขภาษีที่ต้องจ่ายเป็นภาษีนำเข้า แต่การคำนวณภาษีนำเข้าหรือคำนวณภาษีศุลกากรจะซับซ้อนกว่านั้นเล็กน้อย จากการที่คำนวณทีละขั้นตอนตามลำดับ
วิธีคำนวณภาษีศุลกากร
วิธีคำนวณภาษีศุลกากร จะแบ่งออกได้เป็น 6 ขั้นตอนตามลำดับเพื่อความง่ายในการทำความเข้าใจ ดังนี้
- ขั้นที่ 1 หาราคา C.I.F. ของสินค้า
- ขั้นที่ 2 คิดอากรนำเข้า
- ขั้นที่ 3 คิดภาษีสรรพสามิต
- ขั้นที่ 4 คิดภาษีเพื่อมหาดไทย
- ขั้นที่ 5 คิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- ขั้นที่ 6 นำมารวมกัน
ขั้นที่ 1 หาราคา CIF
ขั้นตอนแรกของวิธีคำนวณภาษีศุลกากร คือ การคิดฐานภาษีจากราคา CIF (Cost Insurance and Freight) ซึ่งเป็น Incoterms รูปแบบหนึ่ง
โดยราคา C.I.F. จะเป็นราคาที่คิดมาจาก ราคาสินค้า + ค่าประกัน + ค่าขนส่ง แต่ถ้าหากในกรณีที่การนำเข้าสินค้าใช้ราคาสินค้าแบบ CIF อยู่แล้วก็จะสามารถนำมาใช้ได้เลยโดยไม่ต้องคำนวณเอง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับราคาสินค้านำเข้าแบบ C.I.F. หรือ Cost Insurance and Freight แบบละเอียดได้ที่ ราคา CIF คืออะไร
ขั้นที่ 2 คิดอากรนำเข้า
อากรนำเข้า = ราคา CIF x พิกัดอัตราอากรขาเข้า
พิกัดอัตราอากรขาเข้า คือ อัตราภาษีของสินค้านำเข้า ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละสินค้า โดยสามารถหาพิกัดอัตราอากรขาเข้าได้จาก เว็บไซต์กรมศุลกากร
ตัวอย่างเช่น ราคา CIF ของสินค้าคือ 200 บาท และพิกัดอัตราอากรขาเข้าคือ 20%
ดังนั้น อากรนำเข้า = 200 x 20% = 40 บาท
ขั้นที่ 3 คิดภาษีสรรพสามิต
ภาษีสรรพสามิต = (ราคา CIF + อากรนำเข้า) x 35%
จากตัวอย่างจะทำให้ภาษีสรรพสามิต = (200 + 40) x 35% = 84 บาท
ขั้นที่ 4 คิดภาษีเพื่อมหาดไทย
ภาษีเพื่อมหาดไทย คือ ภาษีที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราต้องเสียภาษีสรรพสามิต โดยจะสามารถคำนวณได้จาก ภาษีเพื่อมหาดไทย = ภาษีสรรพสามิต x 10%
ดังนั้น ภาษีเพื่อมหาดไทย = 84 x 10% = 8.4 บาท
ขั้นที่ 5 คิดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT
ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT = (ราคา CIF + อากรนำเข้า + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีเพื่อมหาดไทย) x 7%
- ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (200 +40 + 84 + 8.4) x 7% = 23.27 บาท
ขั้นที่ 6 นำมารวมกัน
ขั้นตอนสุดท้ายของการคำนวณภาษีศุลกากร คือ การนำทุกส่วนในแต่ละขั้นตอนมารวมกันตามสมการ ภาษีศุลกากร = อากรนำเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีเพื่อมหาดไทย
ภาษีศุลกากร = อากรนำเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีเพื่อมหาดไทย
- ภาษีศุลกากร = 40 + 84 + 8.4 + 23.27 = 155.67 บาท
ดังนั้น จำนวนเงินที่ต้องจ่าย = ภาษีศุลกากร + ราคาสินค้า = 155.67 + 200 = 355.67 บาท