หุ้นกู้ คืออะไร?
หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ระยะยาวรูปแบบหนึ่งที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนเพื่อแสดงการกู้ยืมเงินเหมือนสัญญากู้เงินจากนักลงทุน เพื่อนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ (Debenture) ไปใช้เป็นเงินทุนในการขยายกิจการตามวัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้นั้น
การซื้อหุ้นกู้ของนักลงทุนจะทำให้นักลงทุนมีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” ของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ในขณะที่บริษัทที่เป็นผู้ออกหุ้นกู้จะมีฐานะเป็น “ลูกหนี้” ที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับนักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ตามอัตราดอกเบี้ย (Coupon Rate) ที่กำหนดเอาไว้ของหุ้นกู้ดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ และมีภาระในการชำระคืนเงินต้น (Par value หรือ Face value) ให้กับนักลงทุนที่เป็นเจ้าหนี้เมื่อครบกำหนดการไถ่ถอนหุ้นกู้ตามอายุตราสาร (Tenor)
กล่าวคือ หุ้นกู้ (Corporate Bond หรือ Debenture) เป็นรูปแบบหนึ่งของการกู้เงินของบริษัทจดทะเบียนด้วยการออกหุ้นกู้และเสนอขายให้กับนักลงทุน ซึ่งมีกลไกพื้นฐานไม่ได้แตกต่างไปจากการกู้ยืมเงินที่บริษัทเป็นลูกหนี้และนักลงทุนเป็นเจ้าหนี้ที่ให้ยืมเงิน และคล้ายกับพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) ที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอขาย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหุ้นกู้ในภาษาไทยจะมีคำว่า “หุ้น” แต่นักลงทุนในหุ้นกู้จะมีฐานะเป็นเพียงเจ้าหนี้เท่านั้น และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารเหมือนกับผู้ถือหุ้นสามัญ (Common Stock) แต่อย่างใด ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงทำให้เมื่อไหร่ก็ตามที่บริษัทที่เป็นผู้ออกหุ้นกู้เกิดล้มละลาย ผู้ที่จะได้เงินคืนก่อนจึงเป็นนักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้
ผลตอบแทนของหุ้นกู้
ผลตอบแทนของหุ้นกู้ คือ ดอกเบี้ย (Interest) ตามที่แสดงอยู่บนหุ้นกู้ดังกล่าว (เรียกว่า Coupon Rate) ที่ผู้ออกหุ้นกู้จะต้องจ่ายให้กับนักลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งช่วงเวลาในการจ่ายดอกเบี้ยอาจแตกต่างกันไปตามผู้ที่ออกหุ้นกู้ เช่น จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน และจ่ายดอกเบี้ยทุก 12 เดือน ซึ่งทั้งอัตราดอกเบี้ย (Coupon Rate) และเงื่อนไขในการจ่ายดอกเบี้ย (Coupon Frequency) จะปรากฏอยู่ในหุ้นกู้ที่มีการเสนอขาย และเป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่จะต้องอ่านรายละเอียดก่อนลงทุน
โดยผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่พบได้บ่อยสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
- หุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate) ที่ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ถือหุ้นกู้ (และตามเงื่อนไขที่ระบุ) อย่างเช่น หุ้นกู้ระยะเวลา 10 ปี ปีที่ 1-3 จ่ายดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี ปีที่ 4-5 จ่ายดอกเบี้ย 5% ต่อปี และปีที่ 6-10 จ่ายดอกเบี้ย 8% ต่อปี
- หุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) เป็นหุ้นกู้ที่จะจ่ายดอกเบี้ยเท่าเดิมตลอดระยะเวลาของหุ้นกู้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ อาจมีหุ้นกู้บางประเภทที่จ่ายผลตอบแทนอื่นนอกเหนือจากดอกเบี้ยหรือจ่ายดอกเบี้ยร่วมกับผลตอบแทนอื่น อย่างเช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) ที่ให้สิทธินักลงทุนในการแปลงหุ้นกู้ไปเป็นสินทรัพย์อื่น (โดยทั่วไปคือการแปลงเป็นหุ้นสามัญ) เมื่อถึงเวลาที่กำหนด
ความเสี่ยงของหุ้นกู้
ความเสี่ยงของหุ้นกู้ คือ ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ไม่ได้แตกต่างจากการปล่อยกู้ทั่วไป จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนไม่ควรว่าบริษัทมหาชนในระดับที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นจะไม่มีทางผิดนัดชำระหนี้จากปัญหาสภาพคล่อง และแม้ว่าจะเป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงต่ำสุดที่มีอันดับ Credit Rating สูงสุดในระดับ AAA ก็ยังมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ได้
การลงทุนในหุ้นกู้นักลงทุนจึงควรที่จะศึกษาความเสี่ยงของบริษัทที่ออกหุ้นกู้อย่างถี่ถ้วนเพื่อศึกษาความเสี่ยงจากการล้มละลายของผู้ออกหุ้นกู้ โดยในเบื้องต้นสามารถพิจารณาได้จาก
- เครดิตความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ หรือ Credit Rating ที่เป็นการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ออกหุ้นกู้โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
- การดำเนินงานในอดีตและสถานการณ์ปัจจุบันของผู้ออกหุ้นกู้ โดยอาจหาข้อมูลได้จากงบการเงินของบริษัท โดยเฉพาะในประเด็นด้านความสามารถในการจ่ายหนี้ในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ความเสี่ยงจากข้อมูลในอดีตอาจไม่เพียงพอเนื่องจากวิธีการดำเนินงานและผลการดำเนินงานอาจเปลี่ยนแปลงในอนาคต จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนจะติดตามข้อมูลเหล่านี้ในปัจจุบันด้วยและประเมินความเสี่ยงของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของ Credit Rating
นอกจากนี้ หุ้นกู้ (Debenture) ยังมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของนักลงทุน แม้ว่าจะสามารถขายหุ้นกู้ในตลาดรองได้เมื่อต้องการเงินต้นคืนก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ แต่นักลงทุนควรเข้าใจว่าหุ้นกู้ตลาดรองไม่ได้สภาพคล่องที่มาก อีกทั้งการขายตราสารหนี้ในตลาดรองอาจไม่สามารถขายได้ในราคาที่ต้องการ
อีกทั้งความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ยังส่งผลต่อกลไกราคาซื้อขายของหุ้นกู้ (และตราสารหนี้อื่น) ในตลาดรอง (Secondary Market) เมื่อดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้นหุ้นกู้ที่ออกใหม่ก็จะมีอัตราดอกเบี้ย Coupon Rate สูงขึ้นตาม ส่งผลให้หุ้นกู้ที่ออกมาก่อนหน้านี้มีความต้องการน้อยลงและทำให้ราคาขายในตลาดรอง (Market Price) ลดลงตามกลไก Bond Yield และในทางกลับกัน
ทำไมนักลงทุนลงทุนในหุ้นกู้?
หุ้นกู้เป็นการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนที่แน่นอนตามสัญญา และให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก ทำให้นักลงทุนหลายคนที่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนหุ้นกู้และสามารถรับความเสี่ยงได้เลือกที่จะรับความเสี่ยงเพิ่มเติมและนำเงินมาลงทุนในตราสารหนี้อย่างหุ้นกู้ (Corporate Bond) ตลอดจนพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) เพื่อแสวงหาผลตอบแทนคงที่ที่มากกว่าและคาดเดาได้จากผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่จ่ายเป็นงวด ๆ
หากเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นบางประเภทหุ้นกู้เป็นการลงทุนที่สะดวกกว่า เนื่องจากไม่ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องหรือใกล้ชิด อีกทั้งยังสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ในตลาดรองเมื่อต้องการเงินต้นคืนก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้
ใช้เพื่อกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนของนักลงทุน เนื่องจากพันธบัตรมีแนวโน้มที่จะมีความผันผวนในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นและการลงทุนบางประเภท เพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนโดยรวม
การเก็งกำไรหรือใช้เป็นการลงทุนทางเลือกของนักลงทุนที่มีความรู้เกี่ยวกับตราสารหนี้ อย่างเช่น การแสวงหาโอกาสในหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินชั่วคราวที่ให้ผลตอบแทนสูง และการลงทุนหุ้นกู้ที่ถูกจัดอันดับเป็นกลุ่ม Junk Bonds หรือ High-yield Bonds ที่ให้ผลตอบแทนสูงบนความเสี่ยงสูง เป็นต้น
ประโยชน์ของการออกหุ้นกู้
ในด้านของบริษัทเหตุผลที่บริษัทเลือกการออกหุ้นกู้ (Debenture) แทนการออกหุ้นสามัญ (Common Stock) หรือออกหุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) หรือแม้กระทั่งการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน มาจากข้อได้เปรียบ ดังนี้
- หุ้นกู้ไม่ต้องจ่ายเงินปันผลหากเทียบกับการออกหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้มีสถานะเป็นหนี้สินของกิจการทำให้บริษัทไม่ต้องจ่ายปันผล จ่ายเพียงแค่ดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ ไม่ว่าบริษัทจะได้กำไรมาน้อยแค่ไหนดอกเบี้ยก็จะยังคงเป็นรายจ่ายเท่าเดิม
- นักลทุนที่ซื้อหุ้นกู้มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ไม่ได้เป็นเจ้าของเหมือนกับการซื้อหุ้นสามัญ ดังนั้น การได้เงินมาจากการออกหุ้นกู้ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นยังไม่เปลี่ยนไป และทำให้อำนาจในการบริหารยังคงเท่าเดิม (ไม่มี Dilute Effect หรือทยอยรับรู้ Dilution Effect ในกรณีหุ้นกู้แปลงสภาพ)
- หุ้นกู้มีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่ำกว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ในหลาย ๆ กรณี
- ดอกเบี้ยหุ้นกู้ถือเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งการหักค่าใช้จ่านดังกล่าวส่งผลให้ภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทลดลง
ในทางตรงกันข้าม หุ้นกู้ที่มีสถานะเป็นหนี้นี้เองที่เมื่อไหร่ก็ตามบริษัทไม่สามารถจ่ายหนี้ได้จากปัญหาสภาพคล่อง ก็จะนำไปสู่ความเสี่ยงในการถูกฟ้องล้มละลายได้เช่นกัน
ซื้อหุ้นกู้อย่างไร?
หุ้นกู้ออกใหม่ที่เปิดขายจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ หุ้นกู้ที่ขายให้คนทั่วไป (Public Offering) กับ หุ้นกู้ที่ขายให้เฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ที่มีสินทรัพย์ในระดับหลายสิบล้านตามเงื่อนไขที่กำหนด (Private Placement) ทั้งนี้ เราจะเรียกการซื้อหุ้นกู้ของนักลงทุนในลักษณะนี้ว่าการซื้อหุ้นกู้ตลาดแรก (Primary Market)
โดยนักลงทุนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงได้เพียงหุ้นกู้ที่เสนอขายแบบ Public Offering (PO) เท่านั้น ซึ่งหุ้นกู้ส่วนใหญ่จะขายที่ธนาคาร แต่ว่าหุ้นกู้หนึ่งจะไม่ได้มีขายทุกธนาคาร ดังนั้น นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลว่าหุ้นกู้ที่สนใจมีธนาคารใดเป็นผู้จัดการขายและเปิดให้จองและเปิดขายวันไหน ซึ่งอาจศึกษาข้อมูลได้จากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
สำหรับเอกสารที่ใช้ในการซื้อหุ้นกู้ที่ขายให้คนทั่วไป (Public Offering) ตามปกติจะประกอบด้วย บัตรประชาชนสำหรับการยืนยันตัวตน และสมุดบัญชีสำหรับการรับดอกเบี้ยของหุ้นกู้
หุ้นกู้ตลาดรอง คืออะไร?
หุ้นกู้ตลาดรอง คือ การที่หุ้นกู้ที่นักลงทุนไม่ว่ากลุ่มใดก็ตามถูกซื้อขาย (มือ 2 เป็นต้นไป) หลังจากซื้อหุ้นกู้มาจากตลาดแรก (Primary Market) แล้วขายหุ้นกู้ดังกล่าวด้วยราคาตามความต้องการซื้อและความต้องการขายของนักลงทุน (คล้ายกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้น) เรียกว่า ราคาตลาด (Market Price) ที่อาจจะถูกหรือแพงกว่าราคาที่ตราไว้หน้าหุ้นกู้ (Par Value)
กล่าวคือ ราคาหุ้นกู้ตลาดรอง (Secondary Market) อาจสูงกว่ามูลค่าเงินต้นที่นักลงทุนจะได้เมื่อไถ่ถอนก็ได้ หากหุ้นกู้รุ่นดังกล่าวเป็นที่ต้องการ และในทางกลับกันหากหุ้นกู้รุ่นดังกล่าวไม่เป็นที่ต้องการด้วยเหตุผลบางประการราคาตลาดของหุ้นกู้ดังกล่าวก็จะซื้อขายกันต่ำกว่าเงินต้นที่นักลงทุนจะได้เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนก็ได้
โดยในประเทศไทยตลาดรองของตราสารหนี้มีชื่อว่า Bond Electronic Exchange (BEX) ที่จัดตั้งขึ้นโดยโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถซื้อขายได้ผ่านโบรกเกอร์หรือบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์
ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก: Investor.gov, SEC, SET, SETInvestnow