ตราสารหนี้ คืออะไร?
ตราสารหนี้ คือ ตราสารทางการเงินที่ให้สิทธิในการเป็นเจ้าหนี้แก่นักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ แลกกับผลตอบแทนของตราสารหนี้คือดอกเบี้ยตามช่วงเวลารวมถึงผลประโยชน์อื่นที่ได้กำหนดไว้ และเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนผู้ออกตราสารหนี้จะคืนเงินต้นให้กับนักลงทุนตามที่ระบุในตราสารหนี้
ในระหว่างที่นักลงทุนถือตราสารหนี้ ผู้ออกตราสารหนี้จะจ่ายดอกเบี้ย (Interest) ในอัตราที่ตกลงกันไว้ ตามช่วงระยะเวลาที่กำหนด เรียกว่า งวดการจ่ายดอกเบี้ย (Coupon Frequency) ซึ่งอาจจะแตกต่างกัน อย่างเช่น ทุก 6 เดือน และทุก 12 เดือน (ในส่วนนี้อาจทำให้ผลตอบแทนโดยรวมต่างกันได้)
เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนผู้ออกตราสารหนี้ (Issuer) ก็จะคืนเงินต้นตามมูลค่าของตราสารหนี้ (เรียกว่า มูลค่าที่ตราไว้ หรือ Par Value) ให้กับนักลงทุน รวมถึงสิทธิประโยชน์บางอย่างที่แตกต่างกันในตราสารหนี้บางประเภท
กล่าวคือ ตราสารหนี้ (Debt Instruments) ทำหน้าที่ในลักษณะของสัญญากู้เงินระหว่างผู้ออกตราสารหนี้กับนักลงทุน โดยที่ผู้ออกตราสารหนี้อย่างรัฐบาล บริษัทเอกชน และรัฐวิสาหกิจมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” ในขณะที่นักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้มีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” และได้ผลตอบแทนจากลูกหนี้เป็นดอกเบี้ยและผลประโยชน์ตามที่ตกลงกันไว้ (เรียกว่า สิทธิแฝง)
ตราสารหนี้มีอะไรบ้าง?
การแบ่งประเภทของตราสารหนี้ (Debt Instruments) ที่ง่ายที่สุดคือการแบ่งประเภทของตราสารหนี้ตามผู้ออกตราสารหนี้ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐ, ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ, และตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน
ตราสารหนี้ภาครัฐ
ตราสารหนี้ภาครัฐ คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐบาลส่วนกลาง ธนาคารกลาง และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ที่ได้ยินในชื่อแตกต่างกันไปเช่น พันธบัตรรัฐบาล, พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย, พันธบัตรกระทรวงการคลัง, พันธบัตรเทศบาล (Municipal Bond), และตั๋วเงินคลัง
ข้อได้เปรียบของตราสารหนี้ภาครัฐที่ทำนักลงทุนสนใจมาจากการที่เมื่อเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐทำให้โอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำ เพราะการผิดนัดของรัฐบาลจะเกิดจากการที่รัฐไม่มีเงินหรือรัฐล้มละลายเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงเกิดขึ้นได้ยากมากเมื่อเทียบกับผู้ออกตราสารหนี้อื่นแม้ว่าในทางปฏิบัติอาจเกิดขึ้นได้ก็ตาม
ตราสารหนี้ภาครัฐหากเป็นพันธบัตรประเภทออมทรัพย์ นักลงทุนทั่วไปสามารถซื้อได้จากธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารไทยพาณิชย์ (เงินลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท) แต่สำหรับพันธบัตรประเภทอื่น อย่างเช่น ตั๋วเงินคลังพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย จะออกจำหน่ายให้แก่นักลงทุนสถาบัน และ/หรือ นักลงทุนรายใหญ่ที่มีคุณสมบัติทางการเงินตามที่กำหนดเท่านั้น
ตราสารหนี้ภาคเอกชน
ตราสารหนี้เอกชน คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน เรียกอีกอย่างว่า หุ้นกู้ (Corporate Bond) เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่ต้องการนำเงินไปลงทุน เป็นตราสารหนี้ที่มีโอกาสที่ผู้ลงทุนจะโดนบริษัทที่ออกตราสารหนี้ผิดนัดชำระหนี้
โดยหุ้นกู้จะมีการจัดอันดับความเสี่ยงเรียกว่า Credit Rating ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำสุด AAA AA A BBB BB B C ไปหา D ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สูงที่สุด (ยิ่งความเสี่ยงสูงผลตอบแทนที่เป็นดอกเบี้ยยิ่งสูงตาม) เพื่อแสดงความเสี่ยงของผู้ออกหุ้นกู้ให้นักลงทุนทราบ
ปัจจุบันในประเทศไทยนักลงทุนสามารถซื้อตราสารหนี้เอกชนหรือหุ้นกู้ได้จากธนาคารพาณิชย์ 14 แห่งและบริษัทหลักทรัพย์ (เงินลงทุนขั้นต่ำ 50,000 – 100,000 บาท) สำหรับตราสารหนี้ออกใหม่จะประกาศอยู่ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ
พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise) ที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่มากกว่า 50% ซึ่งพันธบัตรรัฐวิสาหกิจมีทั้งรุ่นที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและไม่ค้ำประกัน โดยพันธบัตรรัฐวิสาหกิจจะมีอายุ 1 ปีขึ้นไป
เป็นตราสารหนี้ที่เหมือนจะอยู่กึ่งกลางระหว่างตราสารหนี้ภาครัฐกับตราสารหนี้ภาคเอกชน แต่ก็ไม่สามารถเรียกได้ไม่เต็มปาก เนื่องจากการที่เป็นธุรกิจที่รัฐบาลถือหุ้นอยู่เกินครึ่งก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะธุรกิจดังกล่าวจะมั่นคงและไม่ล้มละลาย
ความเสี่ยงของตราสารหนี้ คืออะไร?
ความเสี่ยงของตราสารหนี้ อันดับแรกคือการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk) เป็นความเสี่ยงจากการที่ลูกหนี้ไม่จ่ายหนี้เช่นเดียวกันกับหนี้โดยทั่วไป อย่างไรก็ตามตราสารหนี้ (Debt Instruments) ยังมีความเสี่ยงอื่นอยู่อีกด้วย ได้แก่:
ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) เพราะตราสารหนี้โดยส่วนใหญ่จะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ให้กับผู้ลงทุน หากว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ที่เป็นพื้นฐานของดอกเบี้ยในตลาดเงินเกิดเปลี่ยนแปลงไป ราคาของตราสารหนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ย ตัวอย่างเช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันสูงขึ้นราคาของตราสารหนี้เก่าก็จะลดลง เนื่องจากตราสารหนี้แบบเดียวกันที่จะออกใหม่จะมีดอกเบี้ยที่สูงกว่า
ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity Risk) คือความเสี่ยงที่เกิดจากต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Costs) ในการเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาไถ่ถอนที่ค่อนข้างยาวนาน ทำให้นักลงทุนเสียโอกาสในการใช้เงินทุนก้อนดังกล่าวไปลงทุนกับสินทรัพย์อื่น
ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ (Inflation Risk) ที่ทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ที่จะได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้อาจจะลดลงตามเงินเฟ้อ
ตลาดตราสารหนี้
ตราสารหนี้ (Debt Instruments) เป็นหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายบน 2 ตลาดเช่นเดียวกับสินทรัพย์ทางการเงินประเภทอื่น โดยสามารถแบ่งตลาดตราสารหนี้ออกเป็นตลาดแรก (Primary Market) และตลาดรอง (Secondary Market)
ตราสารหนี้ตลาดแรก คือ การซื้อตราสารหนี้ที่ออกครั้งแรก โดยจะสามารถติดต่อซื้อตราสารหนี้ตลาดแรกได้จาก ผู้ค้าตราสารหนี้ (Dealers) ซึ่งก็คือธนาคารพานิชย์และบริษัทหลักทรัพย์
ตราสารหนี้ในตลาดรอง สำหรับประเทศไทยเรียกว่า Thai Bond Exchange (TBX) คือ ตลาดสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนตราสารหนี้ระหว่างนักลงทุน (คล้ายตลาดหุ้น) โดยนักลงทุนจะต้องเปิดบัญชีซื้อขายกับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อซื้อขายตราสารหนี้ที่อยู่ในตลาดรอง
ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก: การซื้อขายตราสารหนี้ (SETInvestNow) และ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ