อัตราส่วนหนี้สิน หรือ Debt Ratio คือ อัตราส่วนทางการเงินที่เปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างสินทรัพย์ทั้งหมดของกิจการเทียบกับเงินที่กู้มา เพื่อแสดงให้ผู้วิเคราะห์เห็นว่า หนี้สินรวมทั้งหมดของกิจการเป็นกี่เท่าของสินทรัพย์รวมของกิจการ ทำให้บางครั้ง Debt Ratio อาจเรียกว่า อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์รวม
ซึ่งการวิเคราะห์อัตราส่วนหนี้สินจะใช้วิเคราะห์สภาพคล่องของกิจการ ว่ากิจการ ณ เวลาที่วิเคราะห์มีหนี้มากแค่ไหน และนอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้สิน หรือ Debt Ratio คือ อีกส่วนที่มีผลกับการขอกู้เงินของบริษัท เพื่อประเมินความสามารถและโอกาสจ่ายหนี้ของบริษัท
วิธีคำนวณหา อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ (Debt Ratio) สามารถทำได้โดยการหารหนี้สินรวมด้วยสินทรัพย์รวมตามชื่ออัตราส่วน (จากงบแสดงฐานะการเงิน)
อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ (Debt Ratio) = หนี้สินรวม ÷ สินทรัพย์รวม
โดยค่าที่ได้ของอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์หรือ Debt Ratio ควรจะมีค่าน้อย และมีหน่วยเป็นเท่า
ความหมายของ อัตราส่วนหนี้สิน (Debt Ratio)
ผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณหา Debt Ratio หรือ อัตราส่วนหนี้สิน สามารถนำมาใช้วิเคราะห์หนี้สินต่อสินทรัพย์ของกิจการ หรือนำไปเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยมีความหมายดังนี้
อัตราส่วนหนี้สิน (Debt Ratio) ที่มีค่าน้อย หมายความว่า สินทรัพย์ส่วนใหญ่มาจากเจ้าของกิจการ (มาจากส่วนของเจ้าของ)
อัตราส่วนหนี้สิน (Debt Ratio) ที่มีค่ามาก หมายความว่า สินทรัพย์ส่วนใหญ่ได้มาจากการก่อหนี้ (มีสินทรัพย์จากการกู้เงินมาซื้อ)
ตัวอย่างเช่น บริษัท Goods มีสินทรัพย์รวม 10,000,000 บาท และมีหนี้สินรวม 30,000,000 บาท ดังนั้น Debt Ratio = 30 ล้าน ÷ 10 ล้าน อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ จึงเท่ากับ 3 เท่า
จากตัวอย่าง บริษัท Goods มีอัตราส่วนหนี้สิน คือ 3 เท่า ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเดียวกันอยู่ที่ 20 เท่า หมายความว่า บริษัท Goods สินทรัพย์ส่วนใหญ่มาจากเจ้าของกิจการในสัดส่วนที่มากกว่าบริษัทอื่นๆ และในอีกความหมายคือบริษัท Goods สามารถมีความสามารถที่จะก่อหนี้เพิ่มได้ในอนาคต ถ้าหากบริษัทต้องการเงินทุน
อัตราส่วนหนี้สิน เกี่ยวอะไรกับสินทรัพย์
และสำหรับใครที่สงสัยว่า สินทรัพย์ (Assets) จะมาจากหนี้ได้ยังไงหรือเกี่ยวกับหนี้ได้อย่างไรในเมื่อเราเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้น
เหตุผล คือ การที่จะได้สินทรัพย์มาก็จะต้องซื้อสินทรัพย์นั้นมา ซึ่งการที่จะทำให้มีเงินซื้อสินทรัพย์มาได้ก็จะมีอยู่ 2 วิธี (หรือ คิดภาพง่าย ๆ คือ ทำอย่างไรให้บริษัทมีเงินทุนมากขึ้น) ได้แก่
- ส่วนของเจ้าของ หรือใช้เงินทุนของเจ้าของซื้อสินทรัพย์
- การก่อหนี้ ยืมเงินมาลงทุนซื้อสินทรัพย์
ซึ่งที่อธิบายมาคือความสัมพันธ์ระหว่าง สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ ที่รู้จักกันในชื่อ สมการบัญชี (Account Equation)